ยกทีมจากโคราชติวเข้มเทคนิคการใช้แสงซินโครตรอนถึงชลบุรี
นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยกทีมจาก จ.นครราชสีมา มุ่งสู่ จ.ชลบุรี ติวเข้มเทคนิคการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนแก่กลุ่มผู้ใช้มหาวิทยาลัยบูรพา อัดแน่นความรู้ทางทฤษฎีและการทดลอง ฝึกวิเคราะห์ข้อมูลจากการทดลอง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกลุ่มงานวิจัยต่างๆ โดยหวังเพิ่มคุณภาพและยกระดับงานวิจัยแก่ผู้ใช้บริการแสง
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัดโครงการอบรม “Synchrotron Radiation Applications on XAS Data Analysis and Introduction to XPS Technique” ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2565 ซึ่งการอบรมเพื่อแนะนำการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนโดยใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (XAS) เทคนิคสเปกโตรสโกปีโฟโสอิเล็กตรอนด้วยรังสีเอกซ์ (XPS) โดยนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันฯ ในรูปแบบการให้ความรู้ทางทฤษฎีและการทดลอง ผู้เข้าอบรมยังได้ร่วมฝึกวิเคราะห์ข้อมูลจากการทดลอง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในกลุ่มงานวิจัยต่างๆ โดยมีผู้สนใจทั้งนักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาเข้าอบรม รวมทั้งเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ประมาณ 60 คน
ดร.พินิจ กิจขุนทด ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 5.2 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ที่ผ่านมาสถานีทดลองทางด้านเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ของสถาบันฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการอบรมความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ณ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ใช้หรือยูสเซอร์ (User) ได้พัฒนาศักยภาพในการวิจัยด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ อีกทั้งยังเป็นการขยายฐานผู้ใช้บริการใหม่ และเพื่อให้การจัดกิจกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น โดยมีบรรยายให้ความรู้การใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนทั้งในรูปแบบทั่วไปและแบบมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่ม”
“การจัดการประชุมครั้งนี้ เรายังมุ่งหวังให้เกิดการสร้างกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนในงานวิจัยด้านต่างๆ ให้กว้างขวางและมีความเข้มแข็งในงานวิจัยให้มากขึ้น และเพื่อพัฒนาความร่วมมือการทำวิจัยระหว่างนักวิจัยของสถาบันฯ และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน และสร้างกลุ่มผู้ใช้ใหม่ที่สนใจงานวิจัยโดยใช้เทคนิค XAS และ XPS ด้วย” ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 5.2 ของสถาบันฯ กล่าว