สดร. เผย “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” รับสัญญาณแรกจากห้วงอวกาศได้สำเร็จ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” รับสัญญาณแรกจากห้วงอวกาศ หรือ “เฟิร์สไลท์” ได้สำเร็จ เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 24 มีนาคม 2565 ยืนยันประสิทธิภาพการทำงาน ก่อนลุยทดสอบระบบอื่นต่อ ตั้งเป้าใช้ศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุอย่างเต็มรูปแบบปลายปีนี้

ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ประสบความสำเร็จในการรับสัญญาณแรกจากห้วงอวกาศ หรือ “เฟิร์สไลท์” (First Light) เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มีนาคม 2565 เป็นสัญญาณที่ได้รับขณะกล้องชี้ไปที่บริเวณระนาบทางช้างเผือก ซึ่งปรากฏพาดผ่านท้องฟ้าเหนือบริเวณจานรับสัญญาณ จากภาพจะสังเกตได้ว่าสัญญาณมีความสว่างเป็นแถบสูงในช่วงคลื่น 1420.406 MHz ตรงกับช่วงความยาวคลื่นที่เรียกกันว่า “21-centimeter line” เป็นช่วงความยาวคลื่นที่เกิดจากการเปล่งแสงของอะตอมไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในเอกภพ และมีการกระจายตัวทั่วไปในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ภาพแสดงสัญญาณแรกจากทางช้างเผือกที่กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติรับได้

การทดสอบเฟิร์สไลท์ คือขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งของกล้องโทรทรรศน์ใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นการทดสอบอุปกรณ์และระบบกล้องเพื่อรับสัญญาณภาพอย่างเต็มรูปแบบในครั้งแรก ภาพสัญญาณนี้จึงนับเป็น “ภาพแรก” ที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์น้องใหม่ของประเทศไทย สำหรับขั้นตอนต่อไป วิศวกรจะทดสอบระบบอื่น ๆ ของกล้อง อาทิ อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณในช่วง K-band ระบบควบคุมทิศทางและติดตามวัตถุ ระบบการหล่อเย็นอุปกรณ์ และระบบประมวลผลสัญญาณวิทยุเอนกประสงค์ เป็นต้น จนกว่าจะแน่ใจว่าทุกระบบนั้นทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก่อนที่จะใช้ศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุอย่างเต็มรูปแบบในปลายปีนี้

ภาพเบื้องหลังการทดสอบเฟิร์สไลท์

ดร. วิภู กล่าวเพิ่มเติมว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งนักดาราศาสตร์ไทยและต่างประเทศได้ไขความลับของเอกภพในช่วงคลื่นวิทยุ ซึ่งข้อได้เปรียบของการศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุนั้นคือ สัญญาณวิทยุสามารถทะลุผ่านท้องฟ้าในเวลากลางวันรวมถึงเมฆต่างๆ ได้ จึงสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถทะลุทะลวงกลุ่มฝุ่นในอวกาศได้ ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาวัตถุที่ริบหรี่หรือไกลออกไปได้อีก เช่น ดาวนิวตรอนหรือพัลซาร์ สัญญาณคลื่นวิทยุที่ปล่อยออกมาจากเมฆโมเลกุลในลักษณะเดียวกับเลเซอร์ในช่วงคลื่นวิทยุ ที่เรียกว่า เมเซอร์ ติดตามการกระจายตัวของธาตุไฮโดรเจนในเอกภพ ไปจนถึงการสังเกตการณ์สัญญาณวิทยุที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากหลุมดำมวลยิ่งยวดหรือ Active Galactic Nuclei (AGN) นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือที่จะนำกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติเข้าร่วมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุนานาชาติ เพื่อศึกษาวัตถุท้องฟ้าที่ต้องรวมกำลังของกล้องจำนวนมากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกันประหนึ่งเป็นกล้องขนาดยักษ์กล้องเดียวที่เรียกว่า “อินเทอเฟอรอมิทรี” (interferometry) ดังเช่นที่เคยร่วมกันศึกษาและเปิดเผยภาพถ่ายหลุมดำใจกลางกาแล็กซี M87 

กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ หรือ Thai National Radio Telescope (TNRT) เป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ใหม่ล่าสุดในกำกับของ สดร. สำหรับสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ ตั้งอยู่ที่หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบจานเดี่ยวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ปัจจุบันถือเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณทางดาราศาสตร์ที่มีขนาดพื้นที่รับแสงใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากทดสอบระบบต่าง ๆ สำเร็จแล้วจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้วงการดาราศาสตร์ไทยสามารถร่วมบุกเบิกดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุได้พร้อมกับทั่วโลกต่อไป ดร. วิภู กล่าวปิดท้าย

กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

            สำหรับผู้สนใจติดตามความคืบหน้าของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ https://www.narit.or.th/ และเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/NARITpage ของ สดร.

Leave a Reply

Your email address will not be published.