สอวช. เผยไทยมีโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ชี้มีนโยบายรัฐส่งเสริมการให้ทุนวิจัยและพัฒนาบุคลากร รองรับการเปลี่ยนแปลงและการขยายตลาดการผลิตในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเวทีสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เทคโนโลยีและโอกาสทางธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย (EVs Conversion in Thailand, Technology, and Opportunities)” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงเทคโนโลยีในการดัดแปลงรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ณ ห้องประชุม Jupiter 8-9 ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์
ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. สอวช. ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง” โดยได้กล่าวถึงภาพใหญ่ในเชิงนโยบายของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีความพยายามที่จะลดอุณหภูมิลง รวมถึงมีการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะการจะบรรลุเป้าหมายได้ ทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด รวมถึงภาคส่วนคมนาคมด้วย โดยในปี 2025 มีข้อมูลว่าราคารถยนต์น้ำมันจะแพงกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมจึงต้องเร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เท่าทันเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศว่าจะเป็น ASEAN EV-Hub รวมถึงกำหนดว่าในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Zero Emission Vehicle: ZEV) ที่มีการผลิตขึ้นภายในประเทศถึงร้อยละ 30 หรือคิดเป็นจำนวน 6-7 แสนคันต่อปี ซึ่งสัดส่วนในการผลิตรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องพร้อมเปลี่ยนแปลง หากมีการวางแผนที่ดีก็จะสามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการเดิมให้สามารถเดินต่อไปได้ เป็นที่มาของโครงการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ที่จะช่วยยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทย
ภาพรวมการพัฒนาด้านยานยนต์สมัยใหม่ในต่างประเทศ เมื่อเทียบจำนวนประชากรกับประเทศไทยพบว่า เรามีจำนวนประชากรไม่มากนัก ดังนั้นหากจะแข่งขันในเรื่องปริมาณการผลิต จะต้องทำให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าสู่ตลาด เข้ามารวมตัวกัน หรือเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสามารถขึ้นมา ซึ่งในไทยมีผู้ประกอบการอยู่หลายกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการเดิม ผู้ประกอบการรายย่อยใหม่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ใหม่ และผู้ประกอบการต่างชาติรายใหม่ ตลาดในอนาคตจึงมีแนวโน้มเข้มข้นและรุนแรงมากกว่าในปัจจุบัน รวมถึงผู้ประกอบการไทยหลายบริษัทเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบดัดแปลงและแบบใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ผู้ประกอบใหม่เหล่านี้สามารถแข่งขันได้นั้น จะต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การพัฒนาต้นแบบ แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าสู่การผลิตในเชิงปริมาณ ในราคาที่สามารถแข่งขันกับรถที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ เป็นโจทย์ที่ต้องวางแผนและต้องคิดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการขับเคลื่อน ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำสมุดปกขาว “การส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัย” ขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างราบรื่น มีความเกี่ยวข้องกับรถทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ รถไฟ เรือ และระบบอากาศยาน ที่ควรให้การสนับสนุนไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ผลิต สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ในหลายประเภท และได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (Transition Strategy) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาไปได้พร้อมกัน ทั้งในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) และการออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ทั้งคัน (EV New Design) ซึ่งการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีความจำเป็นมาก ต้องพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีความรู้เชิงลึกมากขึ้น ในช่วงเริ่มต้นอาจเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ แต่ในระยะถัดไปต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนงาน R&D ในบริษัทของตัวเอง ส่งเสริมให้สามารถทำงานวิจัยที่ยากขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศได้
สำหรับเครื่องมือและมาตรการสำคัญที่รัฐบาลเริ่มนำมาสนับสนุนในด้านนี้ เพื่อผลักดันและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าสู่ตลาดได้ในระยะแรกเริ่มได้ เช่น การสร้างตลาด, การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การจัดตั้งสถานีชาร์จ, การลงทุน การให้เงินวิจัย รวมถึงการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาบุคลากร ที่คาดว่าในอนาคตอุตสาหกรรมนี้จะมีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องเร่งทั้งการให้ทุนวิจัยและทุนพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน ซึ่งขีดความสามารถของนักวิจัยไทยในปัจจุบัน สามารถออกแบบระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า, วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญขึ้นภายในประเทศ เช่น มอเตอร์, แบตเตอรี่, ตัวควบคุม, พัฒนาการรวมระบบ (System Integration) เข้าด้วยกัน, การออกแบบกระบวนการในการทดสอบ, การพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล, การพัฒนาแพลตฟอร์ม EV และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ, และร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ การออกแบบ โครงสร้างน้ำหนักเบา เป็นต้น แต่ส่วนที่ทำได้ยังอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งบางส่วน บพข. ได้ให้ทุนไปแล้ว เช่น การพัฒนารถไฟรางเบา, รถบรรทุกที่ใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการเปิดรับข้อเสนอโปรแกรมวิจัยในด้านนี้ เพื่อขอรับทุนจาก บพข. รอบใหม่ ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 นี้ด้วย
นอกจากมุมนโยบายและการให้ทุนแล้ว ในงานสัมมนาครั้งนี้ยังได้มีการบรรยายพิเศษถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (กรณีศึกษารถโดยสารไฟฟ้า) เพื่อให้เห็นภาพตัวอย่างการนำรถไฟฟ้าดัดแปลงไปใช้ในสถานการณ์จริงด้วย อีกทั้งในงานยังได้มีการเปิดเวทีเสวนา “การเติบโตของอุตสาหกรรมการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า” เป็นการถ่ายทอดข้อมูลการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับภาคเอกชน พบว่า หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการดัดแปลงรวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น จากการมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ มองว่าการเข้าสู่ธุรกิจนี้จะช่วยสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวทางให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมยังอยู่ได้ หรือมีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเดิมให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเรียนรู้และปรับตัว ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจให้กลุ่มลูกค้าและผู้ประกอบการในการเข้าสู่อุตสาหกรรม เพื่อสร้างพันธมิตรในการทำงานร่วมกันในระยะยาว ในมุมของหน่วยงานภาครัฐเอง ก็ได้มีการศึกษาเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามามากกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบันที่ภาคเอกชนให้ความสนใจหันมาทำธุรกิจแนวนี้มากขึ้น รวมถึงประชาชนที่เริ่มสนใจการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แนวทางการพัฒนาเพื่อสนองต่อนโยบาลรัฐจึงเป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสถานีชาร์จ เพื่อให้บริการประชาชน พร้อมรองรับตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งในอนาคตจะต้องมีแนวทางสนับสนุนอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีก เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปต่อได้ เช่น การมองเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน, อุปกรณ์ชาร์จที่ได้มาตรฐานมากขึ้น เป็นต้น