สอวช. ร่วมเวที TRIUP Fair ถ่ายทอดที่มาและแนวคิด พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 10 ปี พร้อมเดินหน้าร่วมผลักดันการปลดล็อกข้อกฎหมาย ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และสร้างกลไกสู่การนำไปปฏิบัติ

(4 เมษายน 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมหน่วยงานภาคี 16 หน่วยงาน ร่วมกันจัดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (TRIUP Fair 2022) ภายใต้แนวคิดปลดล็อกความเป็นเจ้าของงานวิจัย สร้างศักยภาพไทยไร้ขีดจำกัด ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ โดยในงานได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยอย่างก้าวกระโดด : ความหวังของเอกชน และภาคประชาชน” คืนผลงานให้นักวิจัย คืนผลประโยชน์ให้ประเทศไทย ด้วยกฎหมายใหม่ TRIUP Act สร้างความตระหนักรู้ต่อการมีอยู่ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ให้แก่ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้ด้วย

ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงที่มาของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564  หรือ  TRIUP Act ว่า ก่อนหน้านี้ย้อนหลังไปสิบกว่าปี สอวช. ซึ่งขณะนั้น คือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ได้ทำการศึกษาและเห็นว่าในประเทศต่างๆ มีกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการทำวิจัยอยู่จำนวนมาก มีการลงทุนสนับสนุนงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น แต่ผลงานวิจัยที่ผลิตออกมายังติดข้อจำกัดอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ 1) ผลงานวิจัยที่ออกมานั้นยากที่จะทำให้เกิดผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในแง่ของกฎหมาย การส่งเสริมเรื่องการเงิน และแรงจูงใจ ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการพัฒนาผลงานวิจัย อีกทั้งยังถือเป็นความท้าทายของนักวิจัยและนักบริหารงานวิจัยในการปรับแนวคิดเชื่อมโยงงานวิจัยเพื่อให้เกิดการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 2) ความล่าช้าในการนำเอาผลงานวิจัยออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตกอยู่กับหน่วยงานผู้ให้ทุน ซึ่งไม่ได้มีพันธกิจงานหลักในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และ 3) แรงจูงใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ก่อนหน้านี้นักวิจัยขาดแรงจูงใจในการผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะงานวิจัยประเภทที่จะนำไปให้กลุ่มรายย่อย ภาคการเกษตร รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากงานวิจัยเหล่านั้นไม่ได้สร้างผลประโยชน์มากเหมือนกับการทำธุรกิจ อีกทั้งยังไม่มีผลประโยชน์กลับมาที่นักวิจัย ทำให้เรื่องการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ถูกเพิ่มเข้ามาใน พ.ร.บ. นี้ด้วย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร กลุ่มอาชีพในชุมชน วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ด้อยโอกาสหรือประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดให้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์แก่นักวิจัยที่ดำเนินการอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม

“TRIUP Act ช่วยปลดล็อก อย่างแรกคือการทำให้เศรษฐกิจฐานราก ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ส่วนที่สองคือการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ที่กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยทั้งในกลุ่ม SMEs สตาร์ทอัพ และหากทำทั้งสองส่วนแรกได้ สิ่งที่จะตามมาคือการที่ประชาคมวิจัยและนวัตกรรมของไทยเข้มแข็งขึ้น การลงทุนก็จะมากขึ้นด้วย ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยการจะทำให้ทั้ง 3 ส่วนนี้เกิดขึ้นได้ ต้องมีการปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ผู้ทำวิจัยได้เป็นเจ้าของผลงาน ผลประโยชน์ปลายทางก็จะเกิดขึ้นทั้งกับประชาชน ผู้ประกอบการ สังคม และประเทศชาติ รวมถึงนักวิจัยที่ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อชุมชน ที่กฎหมายฉบับนี้ได้มีการจัดสรรเงินรางวัลให้นักวิจัยในกลุ่มนี้ด้วย ต่อมาคือเรื่องของการส่งเสริม กฎหมายนี้ส่งเสริมให้การทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำได้ง่ายขึ้น และส่วนสุดท้ายคือการสร้างกลไก เป็นสิ่งที่จะต้องมาร่วมกันคิดถึงแนวทางการนำไปปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้กลไกการทำงานต่างๆ หมุนต่อไปได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 มีจุดมุ่งหมายหลัก คือต้องการสร้างผลกระทบจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่รัฐสนับสนุนทุน ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างแท้จริง โดยกำหนดให้ผู้รับทุน (มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน) สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม และต้องนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด

แนวคิดหลักของกฎหมาย คือถ่ายโอนความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากทุนของรัฐ ไปยังผู้รับทุนที่มีศักยภาพในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ต่อยอด เข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ และสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มของทรัพย์สินทางปัญญา สินค้า บริการ และนวัตกรรม ช่วยสร้างให้เกิดแรงจูงใจต่อการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย และนักวิจัย และงานวิจัยและนวัตกรรมตรงกับความตลาดมากขึ้น ทำให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม (Spin off, Startup) จากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้แก่นักวิจัย ผู้ประกอบการนวัตกรรม สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สำหรับงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (TRIUP Fair 2022) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 มีการจัดกิจกรรมในโซนต่างๆ เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เช่น โซน “รู้จัก TRIUP Act และกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย” โซนเวทีกลาง จัดเป็นเวทีสัมมนาเพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม โซน Training ร่วมเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพ และเพิ่มพูนทักษะด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถร่วมชมงานได้ ณ Mitrtown Hall 1-2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ สามารถลงทะเบียนและติดตามรายละเอียดภายในงานได้ที่เว็บไซต์ https://triupfair.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.