แจ็กซา (JAXA) ร่วม สวทช. ชวนเด็กไทย เสนอไอเดียทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ
(7 เมษายน 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการ “Asian Try Zero-G 2022” เชิญชวนเยาวชนไทยส่ง “แนวคิดการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ” ร่วมแข่งขันกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สำหรับใช้ทดลอดจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2565
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับ JAXA ดำเนินโครงการ Asian Try Zero-G มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเปิดรับไอเดียการทดลองวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำจากเยาวชนไทย โดยคณะกรรมการของ สวทช. จะทำการคัดเลือกไอเดียการทดลองที่น่าสนใจจำนวน 3 การทดลอง ในฐานะตัวแทนประเทศไทยร่วมเข้าแข่งขันกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย จากนั้น JAXA จะคัดเลือกรอบสุดท้ายจำนวน 4-6 การทดลอง สำหรับทดลองจริงในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดย ดร.โคอิจิ วะกะตะ (Dr. Koichi Wakata) มนุษย์อวกาศญี่ปุ่น ทั้งนี้เยาวชนเจ้าของการทดลองจะมีโอกาสสื่อสารกับนักบินอวกาศแบบเรียลไทม์และรับชมถ่ายทอดสดการทดลองที่ส่งตรงมาจากศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น
“การรับสมัครของโครงการ Asian Try Zero-G 2022 ในปีนี้ จะเปิดรับ 2 รุ่น คือ รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี และรุ่นอายุไม่เกิน 27 ปี สามารถสมัครเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม (ไม่จำกัดจำนวนสมาชิกในกลุ่ม) โดยส่งไอเดียการทดลองทางฟิสิกส์อย่างง่ายที่ทำได้โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ใน Kibo Module ของ JAXA บนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือสามารถเสนอใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กอื่นๆ เพื่อส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศได้ ซึ่งข้อเสนอไอเดียการทดลองต้องมีสมมติฐาน หลักการ และเหตุผลของการทดลอง ที่สำคัญขั้นตอนการทดลองต้องมีความเรียบง่ายและทำให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 10 นาที นับเป็นโอกาสดีๆ ที่เยาวชนไทยจะได้มีประสบการณ์ในการคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต จึงอยากเชิญชวนเยาวชนที่สนใจส่งใบสมัครเป็นภาษาอังกฤษมาได้ที่อีเมล spaceeducation@nstda.or.th ภายในวันที่ 30 เมษายน 2565”
ด้าน นางสาววริศา ใจดี หรือ น้องไอซี เยาวชนผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการ Asian Try Zero-G 2018 ด้วยไอเดียการทดลอง เรื่อง “การเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันภายในสลิงกีในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Inside the Slinky)” เล่าประสบการณ์ว่า โอกาสที่ได้เหมือนฝัน เพราะเมื่อก่อนเคยเห็นมนุษย์อวกาศแค่ในภาพยนตร์ พอได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสพูดคุยผ่านห้องปฏิบัติการแบบเรียลไทม์ก็รู้สึกตื่นเต้น และเขายังทดลองความคิดที่เราเสนอไป ทำให้รู้สึกว่าเรื่องเล่นๆ ที่เราสงสัย อาจเป็นเรื่องที่น่าสนใจหากศึกษาในรายละเอียดจริงจัง วันหนึ่งเราอาจค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่จุดประกายจากคำถามง่ายๆ ก็เป็นได้ การได้เข้าร่วมโครงการฯ จึงเป็นประสบการณ์ที่ช่วยผลักดันให้เรามีความอยากรู้เรื่องราวของอวกาศมากขึ้น รวมทั้งได้เรียนรู้แนวความคิดของเพื่อนๆ นานาชาติที่ช่วยเปิดโลกทัศน์แห่งทฤษฎีฟิสิกส์อีกด้วย
“สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจ แนะนำว่าให้ลืมทฤษฎีเกี่ยวกับอวกาศที่เรียนมาให้หมดก่อน แล้วลองจินตนาการดูว่าอุปกรณ์ที่เขามีให้ใช้สามารถทำอะไรสนุกๆ ได้บ้างในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือลองศึกษาดูจากการทดลองก่อนหน้านี้ว่ามีการทดลองเรื่องอะไรบ้าง แล้วจะรู้ว่ามีอีกหลายอย่างที่มนุษย์อวกาศยังไม่ได้ลองทำ ฉะนั้นทุกเรื่องบนโลกสามารถเป็นเรื่องใหม่ในอวกาศได้”
ขณะที่ นายวรวุฒิ จันทร์หอม (มอส) เยาวชนผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการ Asian Try Zero-G 2016 ด้วยไอเดียการทดลอง เรื่อง “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero Gravity)” เล่าว่า การได้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญที่ได้สื่อสารกับมนุษย์อวกาศจริงๆ เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อมาก สำหรับไอเดียการทดลองที่ส่งประกวดครั้งนั้นมีที่มาจากสิ่งที่เห็นรอบตัว คือสังเกตเห็นน้ำที่อยู่ในหลอดทดลอง แล้วเกิดคำถามในใจว่าควรอ่านค่าตรงจุดไหนถึงจะได้ค่าที่แม่นยำที่สุด เนื่องจากผิวของน้ำมีลักษณะเว้านูน จึงส่งไอเดียคำถาม “แรงโน้มถ่วงของโลกมีผลต่อการเว้านูนของผิวของเหลวหรือไม่” ไป พร้อมทั้งออกแบบการทดลองที่ไม่ซับซ้อนและคำอธิบายให้ทาง JAXA เข้าใจแบบง่ายๆ ด้วยการวาดรูปการทดลองลงไปในใบสมัคร
“สำหรับในปี 2565 นี้ ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของเยาวชนไทย ที่จะมีโอกาสได้เข้าร่วมเสนอไอเดียการทดลองกับทาง JAXA อยากเชิญชวนน้องๆ ที่มีไอเดียเจ๋งๆ ร่วมส่งใบสมัครเสนอไอเดียการทดลองเข้ามาเยอะๆ โดยพยายามเขียนให้เข้าใจง่าย และศึกษาข้อกำหนดของทาง JAXA ให้ดี เนื่องจากการทดลองต้องเป็นการทดลองที่ปลอดภัย ไม่ซับซ้อน และมีข้อจำกัดเรื่องเวลา สุดท้ายนี้ขอให้กำลังใจน้องๆ ทุกคน ผมเชื่อว่าเด็กไทยมีความคิด มีความสามารถ และจะได้รับคัดเลือกในปีนี้แน่นอนครับ”
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ Asian Try Zero-G 2022 ได้ที่อีเมล : spaceeducation@nstda.or.th เว็บไซต์: https://www.nstda.or.th/spaceeducation/atzg2022 และช่องทางเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/NSTDASpaceEducation