ติดอาวุธอุตสาหกรรมสุขภาพ-ความงามด้วยนวัตกรรม ทางรอดยุคโควิด-19
โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางสุขภาพตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและทั่วโลก แต่ขณะเดียวกัน กระแสความนิยมเรื่องของสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก อุตสาหกรรมสุขภาพและความงามขยายตัวต่อเนื่องทั้งในและตางประเทศ ผู้ประกอบการไทยอย่าง “อาร์ แอนด์ ดี รีเสิร์ช อินโนเวชั่น แอนด์ ซัพพลาย” และ “นารา แฟคทอรี่” ขยับตัว จับมือนาโนเทค สวทช. ใช้นวัตกรรมยกระดับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม รับมือการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและตลาดในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย นักวิจัยอาวุโส ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการโปรแกรมนวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติเพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากสารสกัดสมุนไพร เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ มีมูลค่าสูง และสามารถถ่ายทอดสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“สวทช. เองก็มีความพร้อมในการร่วมผลักดันงานวิจัยในกลุ่มนวัตกรรมด้านสุขภาพและความงาม โดยการนำสมุนไพรไทยมาประยุกต์ใช้กับนาโนเทคโนโลยีและบูรณาการศาสตร์ต่างๆ โดยมีโปรแกรมนวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติเพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีขอบเขตครอบคลุม 4 แผนงาน ได้แก่ แพลตฟอร์มการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ, แพลตฟอร์มการพัฒนานวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติและระบบนำส่งสารสำคัญ, แพลตฟอร์มการพัฒนาระบบทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารสกัดธรรมชาติและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และส่วนสุดท้ายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะตอบความต้องการของภาคเอกชน รวมถึงเทรนด์หรือแนวโน้มทางด้านสุขภาพและความงามอีกด้วย” ดร.อุรชา กล่าว
มองอุตฯ สุขภาพและความงามในมุมที่เปลี่ยนไป
ข้อมูลจากคุณชยภัทร รัชตวิภาสนันท์ Senior Research Analyst – Beauty and Personal, บริษัท มินเทล (ประเทศไทย) จำกัด (Mintel) ที่พูดถึงเทรนด์หรือแนวโน้มทางด้านการดูแลสุขภาพและความสวยความงามใน 5 ปี (2022-2027) จากการวิเคราะห์ผู้บริโภคอุตสาหกรรมและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในสัดส่วนของตลาดโลกและตลาดท้องถิ่นของบริษัท Mintel ซึ่งมีนักวิเคราะห์และนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านอาหารหรืออุตสาหกรรมความงาม มากกว่า 300 คน พบว่า ผู้บริโภคทั่วโลกมีการดูแลตัวเองในเรื่องของความสวยงามมากขึ้น ในช่วงของล็อคดาวน์ของการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพิ่มขึ้น รวมทั้งประเด็นความตื่นตัวด้านจริยธรรมของแบรนด์ว่าสิ่งที่ผู้บริโภคใช้อยู่เป็นไปได้จริงตามแบรนด์ได้กล่าวอ้างหรือไม่ ผู้บริโภคจึงมีการความสนใจและตรวจสอบกันมากขึ้นอีก อีกทั้งในด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการชอปปิ้งมีการจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ใช้เงินสด
ในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้านจริยธรรมและความยั่งยืน จะเกิดความต้องการมากขึ้น ผู้บริโภคมองหาสินค้าและบริการที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้ง การแสดงออกของผู้บริโภคในเรื่องของความงาม ในโลกความเป็นจริงและโลกดิจิตอลจะเริ่มเหมือนกันมากขึ้น และความสวยงามจะไม่มีกฎเกณฑ์อีกต่อไป ไร้ขอบเขตและไร้พรมแดน และในอีก 5 ปีข้างหน้า เรื่องของดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทในวงการความงามมากขึ้น นอกจากจะอยู่ในโลกความเป็นจริงจะก้าวเข้าสู่พื้นที่ของ metaverse ที่เริ่มเป็นกระแสในช่วงปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรมและความคิด ผู้บริโภคมีความเป็นตัวเองมากขึ้น มีความเชื่อถือในคุณค่าของตัวเองมากขึ้น และการนำวัฒนธรรมดั้งเดิมโบราณกลับมาใช้ใหม่หรือมาตรฐานทางด้านความงามที่เปลี่ยนไป เช่น รอยสักที่เดิมมักถูกมองเป็นบุคลิกของคนไม่ดีตามความเชื่อของคนสมัยก่อนปัจจุบันนี้กลับมองว่าเป็นศิลปะและกลับมาได้รับความนิยมในปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงการนำตำรับทางวัฒนธรรมอายุรเวทมาใช้เพื่อความสวยความงาม ซึ่งในประเทศไทยมีการใช้ตำรับไทยหรือแพทย์แผนไทยมานาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ความงามได้ในอนาคต
นวัตกรรม: สร้างโอกาสใหม่ให้เอกชนไทย
“บริษัทมีความสนใจสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสุขภาพและความงาม โดยประธานบริษัท คุณอาวุธ เจริญวัฒนานนท์ มีความสนใจด้านนวัตกรรมไมโครนีดเดิล บริษัทได้พยายามติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และพยายามทำเข็มไมโครนีดเดิลนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จนทราบว่าทางนาโนเทคมีเทคโนโลยีนี้ จึงได้ติดต่อมาและพบกับทางทีม ดร.ไพศาล ที่มีความสนใจทำงานวิจัยด้านไมโครนีดเดิล อยู่แล้ว จึงได้มีการปรึกษาหารือจนทำให้มันเกิดขึ้นได้สำเร็จแล้วจึงขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี” คุณสุพร เจริญวัฒนานนท์ กรรมการ บริษัท นารา แฟคทอรี่ จำกัด เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีตัวเข็มไมโครนีดเดิล กล่าว
เนื่องจากเพิ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีตัวเข็มไมโครนีดเดิล ซึ่งเป็นเข็มที่ขนาดเล็กสำหรับใช้ในบริเวณที่มีปัญหา เช่น ช่วงใต้ตา หรือร่องแก้ม เพื่อช่วยให้ผิวผลัดเซลล์ผิวใหม่ และเพิ่มความกระชับมากขึ้น สามารถใช้กับสารสำคัญเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพได้ คุณสุพรชี้ว่า ในช่วงโควิดก็ยังต้องประสานงานกับทางนักวิจัยผู้พัฒนาอยู่และมีอุปสรรคบ้าง แต่ในมุมการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือตลาดสุขภาพยังคงไปได้ เนื่องจากกระแสการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ด้านความงาม อาจโดนผลกระทบบ้างเนื่องจากการล็อคดาวน์ คนต้องอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่และ Work from Home ทำให้ไม่จำเป็นที่ต้องใช้เครื่องสำอาง บริษัทต้องศึกษาว่าควรจะพัฒนาอย่างไร เพื่อช่วยให้ตลาดด้านความงามกลับมาฟื้นตัวหลังโควิดได้ ซึ่งประกอบกับการที่เพิ่งได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีไมโครนีดเดิล น่าจะเป็นอีกช่องในการหาตลาดและให้บริการทางด้านนี้ได้
เช่นเดียวกับ ดร.เดวิด มกรพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่นวัตกรรมและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ แอนด์ ดี รีเสิร์ช อินโนเวชั่น แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ที่มุ่งเน้นสารสำคัญจากทรัพยากรการเกษตรของไทย เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 เขาชี้ว่า บริษัทฯ ได้รับผลกระทบโดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics supply chain) ที่ต้องปรับแผนให้มีความรัดกุม เรื่องของบุคคลากร ซึ่งต้องดำเนินการป้องกันโรคระบาดภายในโรงงาน และแม้ว่ายอดขายของบริษัทจะลดลงในช่วงโควิด แต่ได้มีการบริหารพนักงานให้เข้าใจและไม่ให้ใครออกเลย สุดท้ายคือ ลูกค้า ที่แม้ว่าผู้บริโภคจะมีกำลังซื้ออยู่ แต่ต้องปรับวิธีการเข้าถึงเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น เนื่องจากลูกค้าอยู่ที่บ้านมากกว่าเดิม ต้องปรับปสู่ช่องทางออนไลน์ และลูกค้ามีเวลามากกว่าเดิมที่จะดูข้อมูลเชิงลึกของผลิตภัณฑ์ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอางหรืออาหารเสริม ดังนั้น หากภาคธุรกิจสามารถทำสินค้าที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมและมีการนำเสนอข้อมูลที่ดี จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ดียิ่งขึ้น
“ย้อนกลับไปถึงปี 2019 เป็นช่วงที่บริษัทได้พัฒนาสารสำคัญได้สำเร็จ และมีโครงการร่วมระหว่าง สวทช. กับ TCELS ภายใต้โครงการ CIB ในการผลักดันผู้ประกอบการไทยที่มีสารสำคัญ ผ่านการคัดเลือกผลงานเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปเข้าร่วมงาน Cosmetic360 ที่ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับการยอดเข้าสู่โครงการ CIB ปี 2020-2021 ในการนำสารสำคัญมาร่วมทดสอบกับทางนักวิจัยของนาโนเทค เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการบ่งชี้ว่าสารสำคัญนั้นมีประสิทธิภาพมากหรือน้อยเพียงใด โดยได้นำมุมมองจากทางต่างประเทศมาใช้ในการพัฒนา ทั้งในเรื่องของงานวิจัยและการตลาด ซึ่งผลการทดสอบสาระสำคัญที่ได้ทางนาโนเทคทดสอบนั้น น่าประทับใจ และสามารถใช้ต่อยอดให้กับทางบริษัทได้ในอนาคต” ดร.เดวิด กล่าว
การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ภาคเอกชนต่างขยับตัวอย่างรวดเร็ว ดร.เดวิด ชี้ว่า ในยุค New Normal ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่วนสำคัญที่สุด คือ ลูกค้ามีพฤติกรรมในการดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อ ซึ่งจะเหมือนในช่วงแรกที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาก็เริ่มมีการซื้อขายของออนไลน์ จึงต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเข้าใจข้อมูลของเราได้มากขึ้น ผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ และช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงยุคนี้เป็นยุคเทคโนโลยี บริษัทได้สร้างออฟฟิศเสมือน metaverse ให้ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้าไปซื้อสินค้าบริการในโลกเสมือนได้ คาดว่า จะสามารถมีการซื้อขายจริงในเร็ว ๆ นี้ โดยเราน่าจะเป็นบริษัทแรก ๆ ของประเทศทางด้านเครื่องสำอางที่มีออฟฟิศเสมือนจริง เพื่อเป็นศูนย์กลางทางด้านเกี่ยวกับเครื่องสำอางและเสริมอาหาร ซึ่งเป็นการปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา หน้าที่ของเราคือต้องเข้าใจและต้องก้าวล้ำไปพร้อมกับเจนใหม่ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้
ในขณะที่ คุณสุพร เผยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีนวัตกรรม คือจุดแข็ง ด้วยตอนนี้ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งไปได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง และผู้บริโภคก็มีความสามารถไม่แพ้กับผู้ผลิตอย่างเรา ผู้บริโภคทราบดีว่า อะไรดีหรือไม่ดี ดังนั้น หากมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์หรือมีนวัตกรรมที่ไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบได้ง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสินค้าอื่น ๆ ที่มีในท้องตลาด จะช่วยให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะทำงานร่วมกัน นำไปสู่การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ร่วมกันได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคและตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของผู้บริโภคได้มากขึ้น
จับมือ สวทช. ก้าวข้ามวิกฤต
คุณสุพร เผยว่า การมีพันธมิตรเป็นหน่วยงานวิจัยระดับชาติ และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมีส่วนช่วยอย่างมาก ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิดก็ยังทำงานต่อเนื่องไม่มีหยุด ทั้งทางทีมนักวิจัยและทีมสนับสนุนในการประสานงานส่งข้อมูลหรือแม้กระทั่งตอนที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ก็ยังมีการอธิบายกระบวนการขั้นตอนในรายละเอียด ทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้นและทำให้สามารถเซ็ทระบบได้ จากเดิมที่เราไม่ได้มีความรู้ทางด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในตัวนี้ ต้องขอขอบพระคุณทางนาโนเทคที่เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น
เช่นเดียวกับ ดร.เดวิด ที่มองว่า ในมุมธุรกิจนั้น พันธมิตรด้านการวิจัยจะสามารถสร้างโอกาสในการต่อยอดในเชิงระดับสากลได้แน่นอน ทำให้การทำธุรกิจในระดับนานาชาติโตได้แบบรวดเร็ว จากการมี Eco System ด้านการวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในด้านนี้แล้ว ทำให้สารสำคัญของเรามีแตกต่าง มีคุณภาพเทียบเท่ากับมาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้ผู้ซื้อที่อยู่ในสหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาสามารถซื้อสินค้าของเราได้อย่างสะดวกใจ และในมุมด้านการวิจัย จะเห็นได้ว่า แนวโน้มของตลาดโลกในมุมของลูกค้าสามารถนำมาใช้เป็นโจทย์วิจัยได้ จากการปรับเปลี่ยนกระบวนการวิจัยหรือการทดสอบสารให้ตอบโจทย์พฤติกรรมและเทรนด์ของอุตสาหกรรม การมีงานวิจัยรองรับเป็นสิ่งสำคัญทำให้เราสามารถตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและต่อยอดสร้างจุดขายในทางอุตสาหกรรมได้
” ที่ผ่านมา สวทช. ทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงร่วมมือกันต่อยอดให้ผลงานเผยแพร่ในวงกว้าง และการมีพันธมิตรเป็นภาคเอกชน ช่วยให้งานวิจัยดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะทั้ง 2 บริษัทนี้ เป็นภาคเอกชนตัวอย่างที่มีการจับมือกับนักวิจัยอย่างเข้มแข็ง และเป็นตัวอย่างของความร่วมมือใน 2 รูปแบบ ทั้งการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัทนารา ซึ่งจะเป็นรูปแบบของภาครัฐมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว และถ่ายทอดให้ภาคเอกชนใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ และในรูปแบบของคุณเดวิดที่เป็นการร่วมมือผ่านโครงการต่าง ๆ โดยภาคเอกชนมีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว นำมาใช้กับเทคโนโลยีแพลตฟอร์มการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการยืนยันว่าตัวผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพ มีฤทธิ์ตามที่มีการเคลมจริง ๆ นอกจากนี้ ในปัจจุบันนี้ สวทช. ยังมีการทำงานเชิงรุกในการจับมือกับภาคเอกชนเพื่อขอทุนวิจัยระหว่างฝ่ายวิจัยกับภาคเอกชน เพื่อการต่อยอดนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึง กลไกการสนับสนุนของ สวทช. ในการทำงานระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชนในรูปแบบอื่น ๆ ในการส่งเสริมการทำงานร่วมกัน” ดร.อุรชา ผู้อำนวยการโปรแกรมนวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติเพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ สวทช. กล่าว