เพิ่มมูลค่า ‘ผ้าทอทุ่งกุลาร้องไห้’ ย้อมติดสีไว ให้กลิ่นหอมดอกลำดวน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องข้าวหอมมะลิที่นุ่มหอมไม่เหมือนใคร แต่ทุ่งราบกว้างใหญ่แห่งนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องของผ้าทอที่มีความวิจิตรงดงาม มีลวดลายการทอผ้าที่แตกต่างหลากหลายตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่เข้มแข็งของผู้คนจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งกรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติยังเป็นมีความเป็นอัตลักษณ์ ดังเช่น ‘ผ้าทอเบญจศรี’ ของจังหวัดศรีสะเกษอันเลื่องชื่อ ที่นำวัตถุดิบสำคัญของจังหวัด 5 ชนิด ได้แก่ ผลมะเกลือ ดินปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ดินทุ่งกุลา ใบลำดวน เปลือกไม้มะดัน มาใช้ย้อมสีผ้าให้มีสีสันหลากหลาย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. มุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ขนทัพนักวิจัยลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปต่อยอดพัฒนาฐานทุนอันเป็นจุดแข็งของทุ่งกุลาร้องไห้ให้สามารถสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศษฐกิจ BCG ที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้พ้นความยากจน
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าทุ่งกุลาร้องไห้เวลานี้ไม่ร้องไห้แล้ว แต่เป็นกุลาม่วนชื่น ซึ่ง ประชาชนมีความเข้มแข็งในการสร้างอาชีพในพื้นถิ่นของตนเองจากฐานทุนทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์มาช้านาน ประกอบกับกระทรวง อว. ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอในพื้นที่ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) สารชีวภาพที่ผลิตได้จากเชื้อจุลินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี ที่ช่วยทำความสะอาดเส้นใย และเพิ่มประสิทธิภาพการติดสีธรรมชาติได้ดีขึ้น ทำให้ลดเวลาการย้อมสีและลดต้นทุนในการฟอกย้อมรวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้นำนาโนเทคโนโลยีเพิ่มสมบัติพิเศษให้ผ้าทอมีกลิ่นหอมของดอกลำดวน ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เพิ่มอัตลักษณ์ให้แก่ผ้าทอเบญจศรีของดีศรีสะเกษให้พิเศษเพิ่มขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ กลุ่มเสื้อเย็บมือผ้าไหมลายลูกแก้ว ย้อมมะเกลืออบสมุนไพรบ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งแหล่งผลิตผ้าไหมที่ได้รับการส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผ้าทอด้วยนวัตกรรม ผ้าไหมลายลูกแก้วแห่งนี้โดดเด่นด้วยผ้าทอที่ย้อมสีดำธรรมชาติด้วยมะเกลือที่มีความเงางาม แต่กว่าผ้าจะมีสีดำสนิทต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 เดือน เพราะภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอีสานใต้กว่าจะได้ผ้าทอสีดำขลับต้องย้อมซ้ำหลายครั้งและใช้เวลานาน
นางฉลวย ชูศรีสัตยา ประธานศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหมผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง กล่าวว่าแต่ก่อนใช้ระยะเวลายาวนานในการย้อมผ้า ก็คิดว่าทำอย่างไรจะลดเวลาในการย้อมผ้าได้บ้าง กระทั่งทางนักวิชาการและนักวิจัยจาก สวทช. ได้เข้ามาส่งเสริมการใช้ ‘เอนไซม์เอนอีซ’ ก็ถือว่าได้ผลดี ช่วยลดระยะเวลา ลดขั้นตอน ที่สำคัญผ้าที่ได้ยังติดสีสม่ำเสมอ สีผ้ามีความเข้ม และเงางาม เพิ่มโอกาสในการขายผ้าทอได้มากขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ได้นวัตกรรมตัวใหม่มาเสริมกับภูมิปัญญา
“จากเดิมย้อมผ้าด้วยมะเกลือซึ่งให้สีดำกว่าจะย้อมผ้าได้สีดำสนิทต้องจุ่มผ้ากับมะเกลือแล้วก็เอาไปตาก ทำแบบนี้สลับไปเรื่อยๆ ใช้เวลากว่า 2 เดือน พอมาใช้เอนไซม์เอนอีซในการทำความสะอาดผ้าก่อนการย้อม ก็ช่วยให้การย้อมผ้าติดสีไวดีขึ้น จากต้องตากถึง 60 แดด 300 จุ่ม เหลือแค่ 30 แดด ประมาณ 1 เดือน”
เช่นเดียวกับ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการถักทอผ้าไหมลายลูกแก้วและผ้าทอเบญจศรี ซึ่งผ้าทอแห่งนี้ไม่เพียงใช้เอนไซม์เอนอีซในการย้อมผ้า แต่ยังเตรียมนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มความนุ่มลื่น และกลิ่นหอมของดอกลำดวน ให้ผ้าทอด้วย
สิทธิศักดิ์ ศรีแก้ว ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง กล่าวว่า กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้างเป็นทายาทหม่อนไหมรุ่นที่ 4 ผ้าทอที่ทำจะเป็นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติจากวัตถุดิบในจังหวัดศรีสะเกษ เช่น ดอกลำดวน มะเกลือ ไม้มะดัน แต่ก่อนจะย้อมตามวิถีชาวบ้าน บางครั้งสีที่ได้ก็ไม่สม่ำเสมอ ใช้เวลานาน แต่กระทรวง อว. และ สวทช. ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนเอนไซม์เอนอีซ ทำให้ผ้าไหมติดสีดี ติดทน อีกทั้งไม่มีสารเคมีที่มาทำลายคุณภาพเส้นไหม ทำให้ผ้าไหมที่ได้มีความนุ่มเงา ถูกใจลูกค้ามาก
“นอกจากนั้นแล้วอัตลักษณ์ที่สำคัญ คือ ศรีสะเกษ เป็นเมืองดอกลำดวนบาน กระทรวง อว. ยังได้เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องกลิ่นหอมให้ผ้าทอ โดยใช้นาโนเทคโนโลยีมาเคลือบกลิ่นดอกลำดวนไว้บนผ้า ทำให้เวลาเราสวมใส่ เราสัมผัส หรือเวลาเดิน ผ้าจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกลำดวนด้วย ถือเป็นอีกอรรถรสหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผ้าทอเบญจศรีของดีศรีสะเกษได้ดียิ่งขึ้น”
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า การทำงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตนอยากฝากนักวิจัย นักวิชาการและคณาจารย์ไว้กับเกษตรกรชาวบ้านในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ให้มองพวกเขาเป็นลูกหลานแล้วทำงานด้วยกัน เพื่อนำสิ่งดีๆ เข้ามาในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ แล้วเปลี่ยนสิ่งที่ทำไม่ได้ ให้ทำได้ต่อไป นับเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผสมผสานภูมิปัญญา พัฒนาผ้าทอของทุ่งกุลาร้องไห้ ให้มีเสน่ห์และคงความเป็นอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ