สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดกิจกรรม THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2022 โดยทีม Himitsukichi จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ คว้ารางวัลชนะเลิศ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. จัดการแข่งขัน “THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2022” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านการแข่งขันประดิษฐ์และออกแบบดาวเทียมขนาดเล็ก (Cansat) และจรวดเชื้อเพลิงน้ำตาล (Sugar Rocket) โดยเฟ้นหาทีมนักประดิษฐ์ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ ทั้งหมด 15 ทีม เข้าร่วมแข่งขัน โดยจะมีเพียง 1 ทีมเท่านั้น ที่ชนะเลิศการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย โดยการแข่งขันมีขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2565 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี และ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัด ชลบุรี

ความพิเศษของการแข่งขันในครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ก็ไม่ทำให้เยาวชนไทยหยุดที่จะมุ่งมั่น ตั้งใจ ใฝ่รู้ และมุ่งที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ สมัครเข้ามากันเป็นจำนวนมาก โดยเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขัน ทั้งหมด 15 ทีม จะได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็ก (CANSAT) และจรวดเชื้อเพลิงน้ำตาล (Sugar Rocket) ระบบการทำงานของดาวเทียมและการทำงานของจรวด การสื่อสารระยะไกล (Remote Sensing) ระบบ GPS เซนเซอร์วัดความเร่ง ใจโรสโคป เซนเซอร์วัดสนามแม่เหล็ก กล้องถ่ายรูป การเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานต่าง ๆ นอกจากนั้น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องออกแบบและประดิษฐ์ Cansat และ Rocket ซึ่งการแข่งขันในปีนี้มาพร้อมกับความท้าทายอย่างมาก ด้วยการที่เยาวชนแต่ละทีมจะต้องนำ Cansat ไปบรรจุลงใน Rocket แล้วทำการยิงทดสอบไปพร้อมกัน ซึ่งทีมไหนที่ Cansat และ Rocket ทนต่อสภาพอากาศ และแรงกระแทกจากระบบขับเคลื่อนสามารถทำภารกิจได้สมบูรณ์ที่สุดจะเป็นทีมที่ได้รับรางชนะเลิศกลับบ้านไป นับว่าเป็นกิจกรรมที่จะกระตุ้นให้เยาวชน
เกิดการคิดและลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาเยาวชนไทยให้ต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมก้าวเข้าสู่การแข่งขันเวทีระดับนานาชาติต่อไป

กิจกรรมวันแรกของการแข่งขัน (12 พฤษภาคม 2565)

          เป็นการนำเสนอภารกิจการวางแผนออกแบบจรวดและดาวเทียมขนาดเล็กถือเป็นภารกิจที่เยาวชนจะได้แสดงถึงทักษะความรู้และความคิดสร้างสรรค์ โดยเยาวชนแต่ละทีมจะต้องทำให้สำเร็จตามที่ได้นำเสนอไว้ต่อคณะกรรมการ ซึ่งเป็นอีกบททดสอบที่ท้าทายสำหรับเยาวชนเป็นอย่างมาก

กิจกรรมวันที่สองของการแข่งขัน (13 พฤษภาคม 2565)

เป็นการทดสอบยิงจรวดประดิษฐ์ที่ได้บรรจุ Cansat ไว้ เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นไปปล่อยบนท้องฟ้า ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ จังหวัดชลบุรี โดยเยาวชนทุกทีมจะโหลดดาวเทียมขนาดเล็กบรรจุในจรวดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว โดยประมาณ โดยมีทีมพี่ ๆ นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ทำหน้าที่ประกอบจรวดพร้อมมอเตอร์ดินขับ และทำการยิงทดสอบจรวดประดิษฐ์ของแต่ละทีมซึ่งการทดสอบดำเนินไปจนถึงช่วงเย็น และเป็นอีกหนึ่งวันที่น้อง ๆ เยาวชน ได้ลุ้นและร่วมสนุกไปพร้อมกับพี่เลี้ยงที่คอยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดในระยะเวลากิจกรรม

กิจกรรมวันสุดท้ายของการแข่งขัน (14 พฤษภาคม 2565)

          ในวันสุดท้ายของการแข่งขันเยาวชนทุกทีมจะต้องนำเสนอภารกิจหลังจากที่ได้ทำการทดสอบการยิงจรวดประดิษฐ์ที่บรรจุ Cansat โดยแต่ละทีมจะต้องนำผลการทดสอบจัดทำเป็น Presentation นำเสนอต่อคณะกรรมการ ว่าภารกิจที่ทำการทดสอบสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ รวมถึงได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด แนวทางการแก้ไข และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต้องทำอย่างไร จากนั้นเป็นหน้าที่ของกรรมการตัดสินในการรวบรวมผลคะแนนที่ได้พิจารณาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของการแข่งขัน

          เริ่มต้นพิธีปิดการแข่งขัน “THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2022” รอบชิงชนะเลิศ ด้วยการเปิดวิดีทัศน์ประมวลภาพกิจกรรม 3 วัน 2 คืน สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมพิธีเป็นอย่างมากต่อจากนั้น ผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงาน ได้เข้าร่วมพิธีปิด โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ร่วมเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลการแข่งขัน ซึ่งมีเงินรางวัลรวมมูลค่า 77,000 บาท และถ้วยเกียรติยศ ทั้งสิ้น 9 รางวัลด้วยกัน ได้แก่

 1. รางวัลชนะเลิศ THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2022 ได้แก่ ทีม Himitsukichi จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ            

2. รางวัล Best Cansat Award ได้แก่ ทีม Himitsukichi จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

3. รางวัล Best Rocket Award ได้แก่ ทีม Himitsukichi จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

4. รางวัล Cansat Mission Award ได้แก่ ทีม Himitsukichi จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท

5. รางวัล Technique Award ได้แก่ ทีม อาบังขายปลาท่องโก๋ จาก โรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ จังหวัดพัทลุง ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท

6. รางวัล Best Failure Award ได้แก่ ทีม MST  จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท

7. รางวัล Rocket Mission Award ได้แก่ ทีม CANSAT-CANJAI จาก โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท

8. รางวัล Deployment  Award ได้แก่ ทีม CANSAT CANJAI จาก สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท

9. รางวัล Aerodynamics design Award ได้แก่ ทีม Nuage จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท

การแข่งขัน “THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2022” ในปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ตอกย้ำถึงภารกิจหลักของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในการส่งเสริมและสนับสนุน เผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยนำไปพัฒนาความรู้และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชน เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เยาวชนไทยสนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุกทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมนับว่าเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ จะพัฒนาเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้ในอนาคต ถือเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรที่ได้มีส่วนในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับเยาวชนผ่านการอบรมความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ มุ่งมั่นในการประดิษฐ์ คิดค้น สามารถเพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published.