กลับมาแล้ว…คณะเยาวชนโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ปี3
คณะเยาวชนไทยโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ปี3 เดินทางกลับมาแล้วภายหลังเข้าร่วมค่าย NASA Space Camp ณ เมืองฮันส์วิลล์ รัฐอะแลแบมา สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้แสดงความยินดีและมอบแนวทางการดำเนินงานในการสร้างและเตรียมคนด้านอวกาศรวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสู่อนาคตแบบ Life Long Learning
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ GISTDA ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ปี 3 โดยคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทย เข้าร่วมกิจกรรมค่ายด้านอวกาศในระดับสากล ณ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และศูนย์ข้อมูลข่าวสารประชาชนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ NASA เมืองฮันส์วิลล์ รัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเยาวชนผู้ได้รับทุนจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นทุนสนับสนุนจาก GISTDA คือนางสาวชนิศา พร้อมพัฒนภักดี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ซึ่งเป็นเยาวชนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับเหรียญกล้าหาญจาก U.S. Space & Rocket center และ NASA Visitor center
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวชื่นชมคณะเยาวชนและผู้สนับสนุนทุกท่าน ที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันภารกิจอวกาศ และสรุปถึงการสร้างแนวทางร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง GISTDA ยังมีภารกิจหลักในการผลักดัน New Space Economy และภารกิจอวกาศของประเทศ ตอบสนองตามนโยบายของประเทศ การเข้าถึงความรู้ การผลักดันโอกาสให้เกิดขึ้นจริงเพราะ “อวกาศ คือ โอกาสของประเทศ”
ในขณะที่ นายกฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และในฐานะผู้ดำเนินโครงการทุนการศึกษาฯ กล่าวว่า การเดินทางในภาพรวมของภารกิจของคณะเดินทางและเยาวชนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ภารกิจสำคัญ คือ การไปศึกษาด้านการสำรวจอวกาศเบื้องต้นของคณะนักเรียนทุนโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (DTAS) รุ่นที่ 3 และ การไปเจรจาความร่วมมือในด้าน STEAM-Space กับ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ และศูนย์ข้อมูลข่าวสารนาซา (USSRC), มหาวิทยาลัยแอละแบมาแห่งเมืองฮันส์วิลล์ (UAH), NASA ศูนย์การบินอวกาศนายพล Marshall, และศูนย์ประสานงานวิทยาศาสตร์ในความร่วมมือระหว่าง NASA และ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) โครงการ SERVIR NASA ของคณะทำงาน STEAM-Space ไทย รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อเสนอจากกลุ่มผู้ดำเนินโครงการฯ ด้านต่างๆ เช่น ด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากร, การส่งนักศึกษาเพื่อไปฝึกงานยังสถาบันสำคัญของสหรัฐ ฯ ในด้าน STEAM-Space, การทำโครงการระหว่างประเทศทั้ง Earth-Sky-Space, Earth KAM และ การทำโครงการฝึกคนไทยในด้าน STEAM-Space ทั้งในระดับมัธยมศึกษา, อุดมศึกษา และ ระดับมืออาชีพ ร่วมกับสถาบันSTEAM-Space ชั้นนำของสหรัฐ ฯ