สอวช. ชี้ความสำคัญของเทคโนโลยีในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนเริ่มการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2565 ที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะคณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ได้ร่วมการประชุมเตรียมการของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ 77 ประเทศ (G77) และจีน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ก่อนจะมีการประชุมUNFCCC ประจำปี 2565 ในระหว่างวันที่ 6 – 16 มิถุนายน ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ให้ความเห็นในประเด็นความสำคัญของเทคโนโลยีในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางสำหรับกลุ่ม G77 และจีน ในการเจรจาเพื่อเสนอแนวทางพัฒนากลไกการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อนานาประเทศต่อไป
ดร. กิติพงค์ ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ซึ่งขับเคลื่อนโดยกลไกในระดับนานาชาติ เช่น ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Centre and Network: CTCN) และหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity: NDE) ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ประสานงานกลางในแต่ละประเทศ โดยสอวช. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ NDE สำหรับประเทศไทย
กลไกด้านเทคโนโลยีนั้นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ครอบคลุมในทุกๆ ขั้น ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การสร้างขีดความสามารถ การทดลอง การออกไปสู่เชิงพาณิชย์ และการแพร่กระจายต่อไปในวงกว้าง ผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเชื่อมโยงกับกลไกทางการเงินระดับนานาชาติ เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอวช.ในฐานะ NDE มุ่งสร้างกลไกการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยสู่ผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ในปี ค.ศ.2065 รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศในวงกว้างต่อไป