สอวช. เผยประสบการณ์ พร้อมชี้แนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยต่อเวทียูเอ็น
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะผู้ประสานงานหลักของหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ได้รับเชิญให้ไปร่วมการประชุมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จัดโดย UNFCCC ในช่วงการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Climate Change Conference) ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565
ดร.สุรชัย ได้เปิดเผยประสบการณ์การถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่เริ่มจากการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment: TNA) การเสนอรับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) และการเชื่อมโยงกับกลไกทางการเงิน (Financial Mechanism) ที่มีกองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund (GCF) เป็นกลไกสำคัญ
นอกจากนี้ ดร.สุรชัย ยังได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า สอวช. ได้ยึดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) โดยการจัดทำนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานหมุนเวียน และการประหยัดพลังงาน การส่งเสริมเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen Economy)
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเดียวที่ได้รับเชิญให้ร่วมเวทีกับผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับของประเทศไทยว่ามีบทบาทสำคัญในกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีขององค์การสหประชาชาติ