สวทช. เสริมทักษะ พัฒนา AI เปิดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ ไร้การบังคับอัจฉริยะ RoboInnovator Challenge 2022 By Software Park Thailand 17-19 มิ.ย. นี้

ลานกิจกรรม ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต : (17 มิ.ย. 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand: SWP) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เปิดโครงการ “การแข่งขันหุ่นยนต์ ไร้การบังคับอัจฉริยะ RoboInnovator Challenge 2022 By Software Park Thailand เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ระหว่างวันที่ 17- 19 มิถุนายน 2565 ณ ลานกิจกรรม ชั้น2 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต และ Live (สด) ผ่านhttps://www.facebook.com/RoboInnovator ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) และเป็นการสร้างกระแสในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้าน AI ครั้งยิ่งใหญ่อีกด้วย

พลโท สมเกียรติ สัมพันธ์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่าการแข่งขันนี้เป็นการท้าทายความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง เพราะการที่จะสร้างหุ่นยนต์ให้มีความสามารถ (Self Driving Car) ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ได้อย่างปลอดภัย ไม่ชนสิ่งกีดขวาง ต้องใช้หลายๆ วิชามาประยุกต์ร่วมกัน และยังต้องมีภารกิจในการส่งพัสดุให้ถูกต้องตามโจทย์อีกด้วย เป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้กิจกรรมการแข่งขันเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการค้นคว้าหาความรู้ ทดลองฝึกปฏิบัติเพื่อให้มีความสามารถในการแก้ปัญหาและประยุกต์ทักษะต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ได้นั้น นับเป็นการพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง วท.กห. ยังเน้นกิจกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

พลโท สมเกียรติ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในความปกติใหม่ หรือ New Normal หุ่นยนต์และเทคโนโลยี คือสิ่งที่จะเข้ามารองรับกับทุกกิจกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจจับอุณหภูมิแบบสแกนใบหน้า ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือจะเป็นการเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ ต้อง scan แอปพลิเคชันเป็น e-pass เพื่อให้สามารถนับจำนวนได้อย่างชัดเจน ไม่ให้ประชากรหนาแน่นเกินไปตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ยังมี หุ่นยนต์ต่าง ๆ ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาด ทั้งภายนอกและภายในตัวอาคาร อาจจะสามารถเดินลาดตระเวนอย่างอัตโนมัติไปตามมุมต่างๆ ของห้างเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยได้อีกด้วย ดังนั้น เราไม่สามารถปฏิเสธความสามารถของหุ่นยนต์ในปัจจุบันนี้ได้เลย จะเห็นได้ว่าหุ่นยนต์แทบจะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการในปัจจุบัน ดังนั้น หากบุคลากรของเรามีทักษะความสามารถในด้านนี้อย่างกว้างขวาง จะเป็นการต่อยอดในการช่วยพัฒนาประเทศของเราได้อย่างก้าวกระโดดต่อไป

นายณัฐพล นุตคำแหง รองผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขัน “การแข่งขันหุ่นยนต์ ไร้การบังคับอัจฉริยะ RoboInnovator Challenge 2022 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองในการจัดการแข่งขัน โดยมีผู้สนับสนุนการแข่งขันหลักคือ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) เป็นการสร้างกระแสในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้าน AI ครั้งยิ่งใหญ่
ซึ่งในปีนี้ มีผู้สนใจสมัครจากผู้แข่งขันทั่วประเทศ ทั้งจากระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยลัย และอาชีวศึกษา อีกทั้งหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชนรวม กว่า 63 ทีม 238 คน จากทั่วประเทศ และมีกิจกรรม Pitching Online เพื่อนำเสนอเทคนิคการจัดทำหุ่นยนต์นี้ไปเมื่อวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ดร.จาตุวัฒน์ ราชเรืองระบิน นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่ง (ITM) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) นาวาอากาศเอก กิจเปรม เวศย์ไกรศรี นักวิจัยอาวุโส พันเอก หญิง ณัชชา ไชยศรี นักวิจัยอาวุโส กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) ผศ.ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ อาจารย์จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สวทช. และ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) กล่าวว่า “การแข่งขันหุ่นยนต์ ไร้การบังคับอัจฉริยะ RoboInnovator Challenge 2022 ที่เป็นการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาความสามารถพิเศษ หรือ Talent ที่โดดเด่นด้าน Programming ให้หุ่นยนต์มีความสามารถ Navigate ตัวเองได้อย่างปลอดภัย ไม่ชนสิ่งกีดขวาง อีกทั้ง ยังต้องส่งพัสดุให้ถูกต้องตรงตามที่โจทย์กำหนด ซึ่งเป็นการบูรณการศาสตร์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ โดยผ่านการทดลองปฏิบัติจริง ตลอดจนการประยุกต์ใช้ทักษะทั้งหมดนี้ให้สามารถแก้ปัญหาตามโจทย์ได้ เป็นอีกแขนงงานหนึ่งที่ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC มุ่งมั่นสนับสนุน

นอกจากนี้ SMC ยังได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ การจัดฝึกอบรมสัมมนาให้กับผู้สนใจและผู้ที่เกี่ยวข้องในงานด้านอุตสาหกรรม ได้เข้ามาเติมเต็มความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาทิ Machine Learning, IoT, IIoT, Industrial Automation เพื่อการนำไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน ตลอดจนกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรม โดย SMC ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เพื่อมุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และส่งแรงขับเคลื่อนถึงการเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

จะเห็นได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เป็นพลังปัจจัยหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และการสร้างความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตและบริการ ภาคสังคม ภาคชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมไทยได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อก้าวสู่มิติใหม่ของการพัฒนาโดยใช้สติปัญญาและฐานความรู้เป็นปัจจัยนำ เพื่อให้สอดรับกับยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและการปรับตัวเข้าสู่โลกเทคโนโลยี ดร.พนิดา กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published.