“ดนุช” ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. และคณะ เยี่ยมชมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ม.พะเยา ชี้ GE ม.พะเยา เชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับเศรษฐกิจด้วยฐานวัฒนธรรม
23 มิถุนายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา : ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร ประธานอนุกรรมการโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และคณะจากกระทรวง อว. ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ของมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมี รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในผลการดำเนินโครงการฯ ทั้งในส่วนหลักสูตรที่ให้ปริญญา (degree) และหลักสูตรประกาศนียบัตร (non-degree) พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนเยี่ยมชมกาดหล่ายต้า ที่ ม.พะเยาได้นำความรู้และแนวทางการจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education: GE) ให้ความรู้กับชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนด้วยฐานวัฒนธรรม เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. มีแนวนโยบายที่ชัดเจนเพื่อพร้อมนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในสิ้นปี 2580 ด้วยการพัฒนากำลังคนทางด้านการศึกษา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 โดยแนวทางการสร้างกำลังคนให้พร้อมในปี 2580 ของ อว. มีการผลักดันในหลายโครงการ ดังเช่นโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่ อว. มุ่งสร้างนักศึกษาคนรุ่นใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย รวมถึงยังมีอีกหลายโครงการ เช่น โครงการธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ หรือ National Credit Bank เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนตลอดทุกช่วงวัย
“การดำเนินงานโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ตนอยากให้มอง demand size มากกว่า supply size ด้วยการมุ่งตอบสนองความต้องการเรียนของผู้เรียนจริงๆ มากกว่าจะสอนแบบการเน้นบรรยายในห้องเรียน โดยควรออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่ผู้เรียนต้องการเรียนหรือตอบโจทย์สังคม เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้เพื่อท้องถิ่นและชุมชนโดยแท้จริง รวมถึงอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิด soft skill หรือทักษะทางสังคมในด้านต่างๆ นอกเหนือจาก hard skill หรือทักษะทางวิชาชีพที่สอนกันอยู่แล้ว เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทักษะการพัฒนาตัวเอง เป็นต้น ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ควรต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ผลักดันผ่านหลักสูตรในวิชาเรียนรวมถึงหลักสูตรในโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งอยากให้สอดแทรกเข้าไปอย่างสม่ำเสมอและกระจายไปทุกหลักสูตรในมหาวิทยาลัย” ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กล่าว
ในการตรวจเยี่ยมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ม.พะเยา ครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลการดำเนินการโครงการทั้งประเภทหลักสูตรที่ให้ปริญญา (degree) และหลักสูตรประกาศนียบัตร (non-degree) ประกอบด้วย หลักสูตร Non-degree 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเกษตรสู่ Smart Farming โดยคณะเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผู้เรียนที่เข้ามาเรียนนั้นส่วนใหญ่จะเบื่ออาชีพเดิม และต้องการมีอาชีพเสริม ฉะนั้น ตารางการจัดการเรียนการสอนจึงเข้มข้น มีทั้งรูปแบบการบรรยาย ฝึกปฏิบัติการทั้งในสถาบันและสถานประกอบการ เป็นการพัฒนาจากงานบริการวิชาการ โดยผู้เรียนเข้ามาหา เพื่อแสวงหาอาชีพที่ 2 หรือ 3 ให้กับตัวเอง เพราะในปัจจุบันการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริมที่มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
หลักสูตรนักแปรรูปเนื้อสัตว์อัจฉริยะ Smart Meat Processors ซึ่งผู้เรียนหลักสูตรส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร กิจกรรมฝึกปฏิบัติการภายใต้หลักสูตรนี้ เช่น สอนทำไส้กรอก ทำลูกชิ้น ทำบาร์บีคิว ผลประจักษ์ของหลักสูตรคือ ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากสัตว์ได้ และหลักสูตรที่ 3 คือ โครงการนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน พร้อมนำเยี่ยมชมชุมชน ณ กาดหล่ายต้า (Lai Ta Market) ซึ่งเป็นการนำแนวทางการจัดการเรียนการสอนและองค์ความรู้จากหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education: GE) เข้ามาช่วยชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจด้วยฐานวัฒนธรรม เสริมความเข้มแข็ง เพิ่มทักษะ และ design thinking เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน ด้วยจุดสำคัญ ใน GE ของมหาวิทยาลัยพะเยาคือการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนควบรวมกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งมีผลงานเชิงประจักษ์ เช่น ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP “ชอบ SHOP OTOP เลอค่า” ตลาดนัดออนไลน์คนพะเยา ซีรีย์ online marketing เป็นต้น
ขณะที่หลักสูตร degree มีการนำเสนอใน 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ พบว่า บัณฑิตที่จบจากโครงการ มีอัตราได้งานทมากกว่า 85% และได้รับเงินเดือนสูงกว่าบัณฑิตระดับปริญญาตรีปกติทั่วไป เพราะผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่น จากประสบการณ์ของนักศึกษาที่ไปปฎิบัติงานในสถานประกอบการร่วม 10 เดือน เป็นหลักสูตรที่พัฒนาทั้งสมรรถนะและทักษะให้บัณฑิตตอบโจทย์ผู้ประกอบการ และผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น กล่าวคือ จบออกไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที หรือ ready to work ทั้งนี้ หลักสูตรมีแผนจะพัฒนาปรับการเรียนการสอนและปรับระยะเวลาเรียนให้กระชับยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาของหลักสูตรเพียง 3 ปีครึ่ง ให้เป็น 3 ปี ซึ่งยังเป็นไปตามหน่วยกิตที่ครบตามเกณฑ์ของ อว. ทั้งนี้ หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จะผสมผสานระหว่างกิจกรรมboot camp การเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการมากถึง 50% การศึกษาดูงาน การประกวดแข่งขัน และการฝึก training ทำงานจริง
และอีกหนึ่งหลักสูตร degree คือ โครงการหมวดวิชาศึกษาทั่วไปสู่กำลังคนพันธุ์ใหม่ที่มีสมรรถนะสูง โดยทาง ม.พะเยา มีเป้าหมายที่มุ่งจะผลิตคนที่มีความรู้และทักษะควบคู่ไปกับพัฒนาด้าน soft skill คือ community skill ที่เพิ่มเติมมาจากทักษะ 4 c ของศตวรรษที่ 20 (คือCommunication Collaboration Critical Thinking และ Creativity) ทั้งนี้ GE ของ ม.พะเยา ได้มีการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking เป็นเครื่องมือสำคัญมาใช้ในการดำเนินงานหลักสูตร GE ผ่านโปรเจ็ค Design Thinking UP for Sustainable Area-based Development ของ ม.พะเยา เช่น ถังขยะจำกัดหน้ากากอนามัยอัจฉริยะ กล่องเก็บความเย็นจากแกลบกระดาษดูดซับเอทิลีน