วช. ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดอบรมหลักสูตรการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นวิจัยเชิงรุกสอดรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดอบรมระยะสั้น หลักสูตร “การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของนักวิจัยและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับกรอบนโยบาย แผนและทิศทางการวิจัย และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลและเครือข่ายนักวิจัย เพื่อให้งานวิจัยเกิดการยอมรับและถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเน้นงานวิจัยเชิงรุกสอดรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “หลักสูตรในการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นหลักสูตรการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับแผนต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับ Agenda ของประเทศและของโลก หน่วยงานที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องการงานวิจัยเข้าไปเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาตามภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทีมนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายการวิจัยร่วมกัน และในอนาคตจะมีการสานต่อความองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการวิจัยสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเป้าหมายหลัก ๆ คือ การนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการวิจัยและนวัตกรรมเชิงรุกด้วยการประชุมระดมความเห็นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนวิจัยในการตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ตามความต้องการ โดยใช้กลไกของความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วช. กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศ และนำผลงานวิจัย นวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ รวมถึงการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เชื่อมโยงไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในมิติด้านนโยบาย วิชาการ สังคมชุมชน และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจ วช. จึงร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดทำโครงการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ่านการอบรมให้ความรู้กับนักวิจัย ให้มีความเข้าใจในทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งให้ความสำคัญกับทิศทางของทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาประเทศ และยังเป็นการร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาการวิจัยที่มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ทั้งในลักษณะเชิงประเด็น และเป็นฐานให้นักวิจัยได้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อบูรณาการต่อยอดงานวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้ในด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องการพัฒนายั่งยืนของประเทศ”
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางการวิจัยสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13” ว่า “สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของงานวิจัยและนวัตกรรม เพราะว่าในประเทศไหนก็ตามถ้าการพัฒนาไม่ยึดฐานของการวิจัยนวัตกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นไปได้ยาก จึงอยากให้นักวิจัยทุกท่าน ที่เสนอโครงการเข้ามาได้รับการพิจารณา อยากเห็นนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักวิจัยที่อยู่ในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ที่เป็นฐานรากของเกษตรกร เป็นรากฐานของชุมชน ที่ต้องการองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนา สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสภาพัฒน์ รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก การทำวิจัยสร้างนวัตกรรมจะต้องให้สอดคล้องกับนโยบายปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลก และที่สำคัญจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของชาติ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาของกระทรวง กรม ถึงจะสามารถวางแผนการวิจัย เสนอโครงการวิจัยที่ประเทศต้องการได้ มี key word สำคัญอยู่ 4 คำคือ 1.การวิจัยเชิงบูรณาการ 2.ยุทธศาสตร์ชาติ 3.แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และ4.การพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยทั้ง 4 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเวลาเขียนโครงการวิจัยจึงต้องมีความเชื่อมโยงกัน แต่ปัญหาของการวิจัยของไทยคือ การทำวิจัยยังไปไม่ถึงในจุดสูงสุดและรอบด้านพอ แม้เราจะได้เปรียบเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เราต้องดูตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เขามีความละเอียดด้านการทำวิจัยในทุกด้าน ซึ่งการทำวิจัยอย่างเดียวตอบโจทย์ไม่ได้ เราต้องทำการวิจัยแบบบูรณาการ โดยการวิจัยเชิงบูรณาการถือเป็นการใช้ศาสตร์หลายศาสตร์ ถึงจะมาเป็นข้อมูล เป็นนวัตกรรม ที่เราสามารถนำมาขับเคลื่อนประเทศได้ ประเด็นปัญหาทั้ง 4 เรื่อง ที่สภาพัฒน์เห็นว่าน่าจะขับเคลื่อนได้ คือ 1) เกษตรและการแปรรูปคุณภาพสูง 2) มลพิษ PM2.5 Zero waste 3) การแพทย์ และสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 4) การท่องเที่ยว และสุดท้ายขอฝากไว้ว่า นักวิจัยที่ดีควรมี 3 เรื่อง 1.ค้นให้พบว่าปัญหาอยู่ตรงไหน 2.พิสูจน์ให้ได้ และ3.เอาไปใช้ให้เป็น”
ซึ่งการอบรมมีทั้งหมด 6 หลักสูตร 1.การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม 3.การวิจัยด้านสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.การวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 5.การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสและภัยพิบัติ และ 6.การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจัดทางออนไลน์ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2565 อบรมหลักสูตรละ 3 วัน ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากวิทายากรและนักวิชาการชั้นนำเกี่ยวกับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมในระดับต่าง ๆ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระแห่งชาติ กระแสสิ่งแวดล้อมโลก งานวิจัยข้ามสาขา ตัวอย่างการวิจัยที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการงานวิจัยเฉพาะ และงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เกิดเครือข่ายนักวิจัยเพื่อนำไปสู่การวิจัยเชิงบูรณาการ หลักสูตรหลักที่นักวิจัยและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมควรรู้และทำความเข้าใจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป