สอวช. ชี้ไทยมีโอกาสเติบโตในโลกยุคดิจิทัล พร้อมเผยกลไกและแนวทางส่งเสริมนักศึกษา-ผู้ประกอบการ เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงของทักษะและอาชีพในอนาคต
(เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565) ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเสวนา GrabNEXT ในหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน” ในงานเสวนา “GrabNEXT ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” จัดโดย บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งงานเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการหารือเชิงนโยบายอย่างสร้างสรรค์ถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
ดร. กาญจนา ได้สะท้อนภาพให้เห็นว่า ในปัจจุบันกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง นั่นคือโลกดิจิทัล ภาครัฐจึงพยายามสร้างปัจจัยเอื้อและกลไกต่างๆ เข้าไปส่งเสริม เปรียบเสมือนการสร้างสนามฟุตบอล หรือสนามแข่งขัน ที่เป็นสนามดีๆ ให้ทุกคนได้เข้าไปอยู่ และอยากลงไปเล่น ในฝั่งของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นเหมือนคนสร้างนักเตะ หรือสร้างคนที่จะเข้าไปวิ่งในสนามนั้น
“เมื่อมองถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเตรียมตัวปรับเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ถือว่าเดินหน้าได้ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูลจาก We Are Social ล่าสุด พบว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในการสำรวจข้อมูล Weekly online purchase และเป็นอันดับ 3 ในหมวด Real time payment transaction สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้สนามฟุตบอลของเราอาจจะเริ่มสร้างช้า แต่เราสร้างได้เร็ว และเริ่มมีลูกค้า มีความต้องการ มีกลุ่มคนเริ่มลงไปวิ่งในนั้นแล้ว” ดร. กาญจนา กล่าว
สำหรับโอกาสของประเทศไทยในการเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัล ดร. กาญจนา กล่าวว่า หากมองในภาพใหญ่จากมุมของหน่วยงานด้านนโยบาย ประเทศไทยมีโอกาสในหลายสาขาที่สำคัญ ตั้งแต่สาขาที่ใหญ่ที่สุดคือ สาขาด้านการบริการ ในส่วนของการท่องเที่ยว ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเรื่องดิจิทัลจะเข้าไปช่วยในส่วนนี้ได้มาก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการสำรวจเมือง Top 10 ที่ดีที่สุดในโลกในการทำงานและพักผ่อน (Best Cities for a Workation, 2021) ประเทศไทยติดอันดับถึง 2 เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ ในอันดับ 1 และภูเก็ต ในอันดับ 10
ในสาขาด้านการค้าขาย สาขาด้านสาธารณสุข การแพทย์ มองเห็นโอกาสมากมายในการทำแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไป เช่น การมีช่องทาง Telemedicine สำหรับให้คำปรึกษาผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ส่วนสาขาด้านอุตสาหกรรม มีโอกาสเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการจะไปสู่ระบบอัตโนมัติ หรือการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิต และสร้างคุณค่าให้กับบริการใหม่ๆ ได้ และสาขาในด้านการเกษตร เป็นสาขาที่มีการจ้างงานสูง จึงต้องให้ความสำคัญในการหาแนวทางเข้าไปช่วยเหลือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจ ที่ปัจจุบันเกษตรกรเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Smart farmer มากขึ้น การจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจึงต้องอาศัยการมีฐานทางด้านดิจิทัลที่เข้มแข็งมากขึ้นด้วย
ในด้านแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนของกระทรวง อว. ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มองไปถึงกลุ่มคนทุกคนในประเทศ ทั้งกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มีการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) รวมถึงการยกระดับทักษะและสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Upskill/Reskill) รวมถึงมีระบบ ธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) ที่ให้บุคคลทั่วไป รวมถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษา สามารถเรียนและสะสมหน่วยกิต เพื่อนำไปเทียบโอนรับใบประกาศนียบัตร หรือใบปริญญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ซึ่งตอนนี้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มนำร่องทำไปแล้ว เช่น ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคลทั้ง 9 แห่ง และคาดหวังว่าในอนาคตทุกมหาวิทยาลัยจะสามารถเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันได้
ส่วนของการส่งเสริมผู้ประกอบการ กระทรวง อว. มีกลไกการให้ทุน การช่วยเหลือในเรื่องการผลักดันงานวิจัย ให้ไปสู่การนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ หรือการคิดบริการใหม่ๆ โดยมีหน่วยงานสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งในการให้ทุน การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีการให้สิทธิประโยชน์ เช่น กรณีผู้ประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง ตามมาตรการ Thailand Plus Package จะสามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ถึง 250% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง นอกจากนี้หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านสะเต็ม (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนของพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้ 150%
นอกจากนี้ ดร. กาญจนา ยังได้กล่าวถึง ทักษะสำคัญที่ควรมีสำหรับการทำงานในอนาคต (Future of Work) โดยเน้นย้ำว่า ทักษะนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สิ่งสำคัญคือต้องมี Self-motivated ในการให้พลัง ให้กำลังใจตัวเองที่จะเรียนรู้ และยอมรับในการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนของ Hard skill และ Soft skill เช่น ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) ทักษะด้านการสื่อสาร (Communication) การทำงานเป็นทีม (Teamwork) เป็นต้น การเตรียมพร้อมในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ