สทน.แจง ไม่เคยรับรองการประหยัดพลังงานของสาย Ensave เพียงตรวจสอบองค์ประกอบของธาตุให้เท่านั้น
ตามที่ในสื่อหลักและสังคมออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำมันที่ชื่อ Ensave สายพลังงานประหยัดน้ำมัน โดยระบุว่าเป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ใช้กับรถยนต์สามารถทำให้ประหยัดน้ำมันลงกว่า 20% และเมื่อมีผู้สนใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น การแสวงหาข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์จึงเริ่มเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง จนกระทั่งปรากฏข้อมูลในเพจเฟสบุ๊ค Ensave สายพลังงานประหยัดน้ำมัน เมื่อมีผู้สอบถามหน่วยงานรับรองผลการประหยัดที่ทางบริษัทกล่าวอ้าง ทางแอดมินเพจตอบว่า “สถาบันนิวเคลียร์” เป็นผู้รับรอง และมีการแสดงเอกสารตรวจสอบปริมาณรังสีที่ สทน.ออกให้ หลังจากนั้นจึงมีคนจำนวนมากส่งข้อมูลเข้ามาถามใน อินบ็อกซ์ เฟสบุ๊คของ สทน. ในประเด็นการรับรองผลการประหยัดพลังงาน และเมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯได้ให้สัมภาษณ์โดยกล่าวอ้างถึง สทน. ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่อาจจะมีกับ สทน.ได้
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ บริษัท เอสบีพี อินโนเวชั่น จำกัด ได้มาขอรับบริการตรวจวิเคราะห์ธาตุของสาย Ensave ซึ่งเป็นงานบริการปรกติของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และค่าบริการปรกติตามอัตราที่ สทน.กำหนด โดยได้รับสินค้ามา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 สทน.ได้ตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุ โดยวิธี X-rays Fluorescent (XRF) และออกผลให้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ซึ่งในเอกสารแจ้งผลว่าพบธาตุใดบ้างที่ประกอบอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้น สทน.ยังได้ตรวจปริมาณการแผ่รังสีของผลิตภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของธาตุกัมมันตรังสีอยู่ และออกใบรับรองผลปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากวัตถุ โดยออกใบรับรองผลการสอบเทียบให้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565
ฉะนั้น ตามที่มีการระบุว่า สทน. ให้การรับรองการประหยัดพลังงานของสายรัดนั้นไม่เป็นความจริง เราไม่มีภารกิจในการตรวจสอบเรื่องการประหยัดพลังงาน และตามหลักวิชาการยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่ารังสีที่อยู่ในสายรัดจะทำให้เกิดการแตกตัวของอนุภาคน้ำมันแล้วทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน หรือหากผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์มีผลวิจัยนั้นก็ต้องนำออกมาแสดงให้สังคมสิ้นสงสัย และอาจจะมีบางท่านได้ทดลองนำไปใช้แล้วระบุว่าได้ผล นั่นก็เป็นเรื่องของเฉพาะบุคคล
สำหรับสิ่งที่ สทน.เป็นห่วงคือ เรื่องของธาตุกัมมันรังสีที่เป็นส่วนประกอบของธาตุกัมมันตรังสี ซึ่งสามารถแผ่รังสีเบต้าและแกมมาที่มากกว่า 20 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่ควรอยู่ใกล้สายนี้ในระยะประชิดเกิน 20 นาทีต่อวัน
ขอให้ทางผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายสาย Ensave หยุดอ้างผลวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุการและแผ่ปริมาณรังสีที่ สทน.ออกผลวิเคราะห์ให้ เนื่องจากไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติที่ทางบริษัทฯ นำไปใช้ในการจำหน่ายสินค้า เนื่องจากจะทำให้คนเข้าใจผิดและตีความไปว่า สทน. รับเรื่องการประหยัดพลังงาน สำหรับโกดังหรือสถานที่จัดเก็บสินค้านี้ในปริมาณมากๆ อาจจะมีปริมาณรังสีสูง ผู้ที่ดูแลต้องระมัดระวังการได้รับปริมาณรังสีที่เกินค่ามาตรฐานโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว