คาโอ จับมือ อมตะ-กนอ.-เนคเทค และกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค เปิดโครงการ “ร่วมแรงร่วมใจ ลดป่วย ลดกระจาย ลดภัยร้ายจากไข้เลือดออก”

2.พิธีเปิดโครงการร่วมแรงร่วมใจ ลดป่วย ลดกระจาย ลดภัยร้ายจากไข้เลือดออก.JPG

คาโอ เปิดตัวโครงการ “ร่วมแรงร่วมใจ ลดป่วย ลดกระจาย ลดภัยร้ายจากไข้เลือดออก” พื้นที่ตำบลหนองไม้แดง ตำบลดอนหัวฬ่อ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี จังหวัดชลบุรี ร่วมกับ 4 องค์กรใหญ่ ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้ากิจกรรมเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน นำร่องโครงการฯ ในเขตตำบลหนองไม้แดง ตำบลดอนหัวฬ่อ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี ให้ปลอดไข้เลือดออกภายใน 3 ปี พร้อมเปิดตัวแอป “รู้ทัน” มุ่งให้ประชาชนรู้ทันโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

มร.ยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงความร่วมมือในโครงการดังกล่าวว่า “แม้ว่าคนไทยจะรู้จักโรคไข้เลือดออกมานานแล้ว แต่ยังมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่าสาเหตุหลักมาจากการขาดความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ขาดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกยังคงมีอัตราการระบาดอยู่ทุกปี ทางคาโอและพันธมิตรจึงได้เลือกพื้นที่เขตตำบลหนองไม้แดง ตำบลดอนหัวฬ่อ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และเป็นพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่คาโอตั้งอยู่ด้วย โดยเราเลือกเปิดโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) และยังมีแผนจะขยายโครงการไปยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต”

โครงการ “ร่วมแรงร่วมใจ ลดป่วย ลดกระจาย ลดภัยร้ายจากไข้เลือดออก” เป็นโครงการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่ตำบลหนองไม้แดง ตำบลดอนหัวฬ่อ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี โดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยมุ่งร่วมกันลดภาชนะที่ไม่ใช้ประโยชน์ การจัดการขยะ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ การให้ความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก และการหมั่นสำรวจลูกน้ำยุงลาย ในสถานที่ต่าง ๆ โดยพนักงานของโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยินดีสนับสนุนการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงร่วมการสร้างระบบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ผ่านทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละบริษัท พร้อมตั้งเป้าหมายการลดจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2567 

 นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับนโยบายของอมตะด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกภายในนิคมอมตะ ประเทศไทย ที่มีอยู่กว่า 250,000 คน และประชาชนในชุมชนโดยรอบ รวมถึงโครงการนี้ยังมีการนำแอปพลิเคชัน เข้ามาประยุกต์ใช้ให้ทุกคนได้รู้ทันโรคไข้เลือดออก และติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีไว้เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตอบสนองต่อแนวคิดการสร้างเมืองอัจฉริยะของอมตะให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เชื่อมั่นว่าในอนาคตโครงการนี้อาจกลายเป็น Role model ให้กับนิคมฯ อมตะที่ต้องอยู่ในต่างประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว พม่า ได้อีกด้วย”     

ทางด้าน นายวีริศ  อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จ.ชลบุรี เป็นนิคมขนาดใหญ่ พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมจำนวนกว่า 181,879 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2363) มีชุมชนโดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวนกว่า 212 หมู่บ้าน ทาง กนอ.  ยินดีที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้สถานประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่พนักงานและชุมชนโดยรอบ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน การสร้างความสมดุล ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน”

ในส่วนของ ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ยังได้นำเสนอถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า “ในยุค new normal ที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ แม้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกจะลดลงถึงกว่าร้อยละ 80 แต่ไม่ควรไว้วางใจ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาโรคไข้เลือดออกได้ทำให้เด็กเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน และเมื่อวัยทำงานเสียชีวิต จึงส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจ และโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ไม่มียารักษาจำเพาะ ซึ่งทำให้การลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตยากยิ่งกว่าโรคโควิด-19 ดังนั้น มาตรการสำคัญในการลดโรคจึงยังคงเป็นการกำจัดพาหะนำโรคทั้งลูกน้ำยุงลาย  กองโรคติดต่อนำโดยแมลงยินดีอย่างยิ่งกับการผนึกกำลังครั้งนี้ ที่จะได้เห็นประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป”

สำหรับโครงการนี้ ยังมีการนำนวัตกรรมมาสร้างความตระหนักรู้โรคไข้เลือดออก โดยเปิดตัวแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” แอปสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพ เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ง่ายขึ้น ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. กล่าวว่า “ทีมนักวิจัยจากเนคเทค-สวทช. ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค วิจัยและพัฒนา “ชุดซอฟต์แวร์ทันระบาด” เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออก ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งมีการนำไปใช้งานกว่า 5 ปี และในปี พ.ศ. 2563 ได้ร่วมกันต่อยอด ทันระบาด ไปสู่ภาคประชาชน ภายใต้แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “รู้ทัน” เพื่อสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ณ ตำแหน่งปัจจุบัน และพื้นที่ที่สนใจ โดยแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง ไม่เพียงแต่การแพร่ระบาดของไข้เลือดออก แต่ยังรวมถึง สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และดัชนีความร้อนที่นำไปสู่โรคลมแดด และพร้อมขยายผลสู่ความเสี่ยงสุขภาพอื่นๆ ต่อไป” ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการไอโอเอสได้แล้ววันนี้

“ด้วยแนวคิดหลักของบริษัท คาโอ ที่ต้องการให้ประชาชนมีการดำเนินชีวิตที่ดีและดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรงนั้น การเข้ามาสนับสนุนโครงการฯ ในครั้งนี้ จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ว่า คาโอ-สร้างสรรค์สิ่งดี เพื่อชีวิตที่สวยงาม ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความต้องการที่จะให้เกิดความยั่งยืนด้านสุขภาพในสังคมไทย โดยการร่วมมือกันครั้งนี้ มีแผนที่จะขยายพื้นที่การดำเนินงานออกไป และเชื่อมั่นว่า เมื่อทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างจริงจัง จะทำให้ไข้เลือดออกในพื้นที่ดำเนินกิจกรรมลดน้อยลงจนกลายเป็นศูนย์ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน” นายชิมิซึ กล่าวสรุป

Leave a Reply

Your email address will not be published.