วว. ร่วมคัดสรรสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ประจำปี พ.ศ 2565 มุ่งเน้นพัฒนา OTOP ด้วยนวัตกรรม สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2565 ระดับประเทศ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) มอบหมายให้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โอกาสนี้ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) ในฐานะผู้แทนกระทรวง อว. เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน โอกาสนี้ นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) วว. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดสรรผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ พร้อมทีมนักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (ศนอ.) วว. เข้าร่วมในพิธีฯ ด้วย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ณ Hall 4 อาคาร IMPACT FORUM เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
“…วว. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร ให้สามารถนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ดีมีมาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ มุ่งพัฒนาโอทอปยุคใหม่ โดยเปลี่ยนจากโอทอปแบบดั้งเดิม มาเป็นโอทอปที่เน้นการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างมูลค่าและความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นให้ผลิตภัณฑ์สะท้อนถึงความคิดในเชิงภูมิปัญญา การดึงเสน่ห์จากวัฒนธรรมพื้นบ้านมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) หรือมีการสร้างสรรค์คุณค่า (Value Creation) ที่สอดคล้องกับความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศต่อไป…” นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย โดยให้ผู้ประกอบการ จำนวน 1 ราย สามารถส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรฯ ได้ทั้งสิ้น จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ หรือ 3 ชุดผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่ามีผู้ผลิต ผู้ประกอบการส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรทั้งสิ้น จำนวน 15,707 ผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งออกเป็น ประเภทอาหาร 3,943 ผลิตภัณฑ์ ประเภทเครื่องดื่ม 631 ผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย 6,404 ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก 3,637 ผลิตภัณฑ์ ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 1,091 ผลิตภัณฑ์ โดยกอ.นตผ. ได้เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐ 6 หน่วยงาน ทำหน้าที่ตรวจและให้ค่าคะแนนผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเภทอาหาร คณะที่ 1 โดย “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” และคณะที่ 2 โดย “มหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” ประเภทเครื่องดื่ม โดย “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย โดย “กระทรวงอุตสาหกรรม” ประเภทของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก โดย “กระทรวงพาณิชย์” และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดย “กระทรวงสาธารณสุข”
ทั้งนี้การคัดสรรสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP Product Champion) ดำเนินงานต่อเนื่องจากการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งปัจจุบันมียอดการลงทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 95,567 ราย/กลุ่ม 218,209 ผลิตภัณฑ์ โดยการคัดสรรสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย จะดำเนินการเป็นประจำทุก 2 ปี และกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 7 ครั้ง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานในระดับสากล