สดร. จับมือสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ดึงเยาวชนไทยร่วมแก้ปัญหาฝุ่นควัน สร้างความตระหนักด้านมลพิษทางอากาศสู่สังคม
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ดึงเยาวชนระดับอุดมศึกษาจากทั่วประเทศร่วมเวิร์คชอปการตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างง่าย สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็กและมลพิษทางอากาศ ภายใต้โครงการ American Corners Air Quality Learning Empowerment (ACAQLE) หวังต่อยอดองค์ความรู้ และนำไปเป็นแนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นควันและคุณภาพอากาศในชุมชนต่อไปในอนาคต
รองศาสตราจารย์พีรเดช ทองอำไพ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การอบรม American Corners Air Quality Learning Empowerment (ACAQLE) เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สดร. และสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย มีเป้าหมายให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าใจเทคโนโลยีและเทคนิคการตรวจวัดคุณภาพอากาศผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างง่าย สำหรับใช้ตรวจติดตามคุณภาพอากาศ จัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ในช่วงเดือน เมษายน-มิถุนายน 2565 วิทยากรหลักเป็นทีมวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศจากสดร. และมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวน 160 คน จากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
กิจกรรมมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เช่น การบรรยายองค์ความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศเบื้องต้น รับทราบถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย เรียนรู้กลไกการใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากอุปกรณ์ตรวจวัดอย่างง่าย และอ่านค่าคุณภาพอากาศได้ เกิดความเข้าใจขั้นพื้นฐาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงการศึกษาหรือต่อยอดองค์ความรู้ของกลุ่มนักศึกษาและคณะครูอาจารย์ รวมไปถึงสร้างแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในระดับชุมชนต่อไปในอนาคต
ภายใต้การอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ยังได้จัดกิจกรรมแข่งขันออกแบบโครงการที่พัฒนาต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ได้รับ สู่แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี การตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและคุณภาพอากาศในชุมชน (ACAQLE Symposium) แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) การพัฒนาซอฟต์แวร์/ การเขียนโปรแกรม/ การวิเคราะห์ข้อมูล และ 2) แอปพลิเคชั่นหรือการประยุกต์ (โซเชียล/การมีส่วนร่วมการรับรู้ของสังคม) มีทีมนักศึกษาเสนอโครงการเข้าร่วมจำนวน 8 โครงการ ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
มีดังนี้
– ประเภทโครงการ ซอฟต์แวร์/ การเขียนโปรแกรม/ การวิเคราะห์ข้อมูล
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการ “ช้างฝุ่น” โดยนายภาคภูมิ รุจิพรรณ และนายรัตนธร เพ็ชรถม
นักศึกษาจาก สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– ประเภทโครงการ แอปพลิเคชั่นหรือการประยุกต์ (โซเชียล/ การมีส่วนร่วมการรับรู้ของสังคม)
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการ “รู้จักเขา รู้จักเรา เรารู้กัน เพื่อลมหายใจของทุกคน” โดย นายอนัฟ ดามะยะ และ นายถาวร แสงสุวรรณ์ นักศึกษาจาก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
รองศาสตราจารย์พีรเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้จะเป็นก้าวแรกที่จะสร้างความตระหนักรู้เรื่องคุณภาพอากาศ จนในที่สุดแล้วเราจะสามารถหาทางผ่อนคลายปัญหาด้านคุณภาพอากาศลงได้ หวังว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และต่อไปคือเกิดผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ขอขอบคุณสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอเมริกันที่สนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างดี”
พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ ACAQLE Symposium จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์พีรเดช ทองอำไพ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมาเป็นประธาน และคุณไดอานา จอห์นสัน รองผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ร่วมงาน