สดร. ชวนเสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนประชาชนร่วม “เสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ และเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี หอดูดาวแห่งชาติ สามารถเสนอชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้ – 7 ตุลาคม 2565

ดร.ศุภชัย อาวิพันธ์ นักวิจัยชำนาญการ กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในปี 2565 สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ IAU (The International Astronomical Union) ได้จัดกิจกรรม NameExoWorlds 2022 ขึ้นอีกครั้ง เปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ประเทศละ 1 ระบบ ซึ่งในครั้งนี้ กิจกรรมตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะระบบนี้ จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ในอนาคต

สำหรับประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานดาราศาสตร์ของประเทศไทย และหนึ่งในสมาชิกระดับประเทศของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้รับสิทธิ์ให้เข้าร่วมเสนอชื่อ “ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นชื่อไทย” ได้แก่ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 3470b 

ความพิเศษของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 3470b คือ เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของไทย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นับเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งในปี 2566 ที่จะถึงนี้จะครบรอบ 10 ปีที่เปิดใช้งานหอดูดาวแห่งชาติ ดวงตาแห่งเอกภพของไทย หอดูดาวขนาดใหญ่มาตรฐานโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเท่านั้น ยังเป็นห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ที่สำคัญสำหรับศึกษาวัตถุท้องฟ้าแก่นักวิจัยไทยและนานาชาติอีกด้วย

สดร. จึงจัดกิจกรรม “ชวนเสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ประจำปี 2565” ขึ้นเพื่อสรรหา และคัดเลือกชื่อไทยที่เหมาะสม โดยเชิญชวนผู้สนใจทั้ง นักเรียน ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป ร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดังกล่าวเป็นชื่อไทย เสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเห็นชอบ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและร่วม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่ https://bit.ly/NameExoWorldsThailand2022 ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 7 ตุลาคม 2565 เวลา 24:00 น. 

        สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก ในรอบแรกชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ประชาชนเสนอเข้ามาจะถูกพิจารณาคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ สดร. แต่งตั้ง และสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเห็นชอบ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด คณะกรรมการจะคัดเลือกให้เหลือ 10 รายชื่อ จากนั้นในรอบที่สอง ผู้ได้รับคัดเลือกทั้ง 10 ทีม ต้องนำเสนอแนวคิดในการตั้งชื่อ เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือก 2 รายชื่อ และในรอบตัดสิน จะเปิดให้ประชาชนร่วมโหวตทางออนไลน์ เมื่อได้ชื่อที่มีคะแนนโหวตสูงสุดแล้ว จะเสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ เพื่อพิจารณาประกาศชื่ออย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2566 ต่อไป

ข้อมูลจำเพาะดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 3470b ถูกค้นพบครั้งแรกจากข้อมูลของ HARPS radial velocity และในปี พ.ศ. 2555 ได้รับการยืนยันจากการสังเกตด้วยวิธีการเคลื่อนผ่านหน้า (Transit method) จัดเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะประเภทดาวเนปจูนร้อน (Hot Neptune) โคจรรอบดาวแคระ M (M dwarf) อยู่บริเวณกลุ่มดาวปู (Cancer) ห่างจากระบบสุริยะประมาณ 95.9 ปีแสง ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ มีมวลประมาณ 14 เท่าของโลก มีคาบการโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ ประมาณ 3.3 วัน ปัจจุบันนักดาราศาสตร์พบว่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้มีสีฟ้า และประกอบไปด้วยโมเลกุลของไฮโดรเจน น้ำ และฮีเลียม

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 3470b  มีความพิเศษสำหรับคนไทย เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา บนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์มาตรฐานระดับโลกกล้องแรกของประเทศไทย ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการดาราศาสตร์ไทยก้าวเข้ามามีบทบาทในระดับโลก และนับเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของไทย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 3470b เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความผูกพันและสำคัญต่อประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของชาติไทยอย่างยิ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published.