โคราชรับมือโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมคัดกรองและแยกโรคผู้ป่วยจากซินโครตรอน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในจังหวัดนครราชสีมาที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งตั้งอยู่ในโคราชจึงนำความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปีทางด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ ระบบควบคุมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์ช่วยท้องถิ่นรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลิตห้องแยกโรคความดันลบ และตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก แล้วส่งมอบแก่โรงพยาบาลและเรือนจำในพื้นที่โคราชเพื่อคัดกรองและแยกผู้ป่วย

นครราชสีมา : สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมานานกว่า 20 ปีทางด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ เทคโนโลยีระบบควบคุม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์และผลิตห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม และตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก โดยได้ส่งมอบให้โรงพยาบาลและเรือนจำในจังหวัดนครราชสีมา รับมือแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19

ในส่วนของห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ห้องความดันลบสำหรับเตียงผู้ป่วย และห้องเข้า-ออกสำหรับแพทย์และพยาบาล ซึ่งความดันภายในห้องจะต่ำกว่าความดันบรรยากาศ และมีระบบกรองอากาศป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอก ส่วนตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก มีระบบดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง HEPA filter เข้าสู่ภายในตู้คัดกรองฯ เพื่อให้ในตู้มีความดันมากกว่าความดันบรรยากาศและป้องกันบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในตู้ปลอดภัยจากเชื้อโรคทางเดินหายใจ อาทิ โควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค

ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้ส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบฯ ให้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา โรงพยาบาลปากช่องนานา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และโรงพยาบาลพิมาย และได้ส่งมอบตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก ให้แก่ โรงพยาบาลปักธงชัย และเรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ยังได้ส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบฯ ให้แก่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published.