สวทช.-สอวช.-บพข. เร่งเครื่อง Deep Tech Startup เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
(21 ตุลาคม 2565) ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท (Gaysorn Urban Resort) ชั้น 19 : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานภายใต้ โครงการ “แพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก” NSTDA Deep Tech Acceleration Platform ในการสนับสนุน Deep Tech Startup เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” โดยมี ผศ. ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. ดร.กิตติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ รศ. ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมงานพร้อมด้วยผู้ประกอบการ 3 กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร (Food Technology) เทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ (Healthcare Technology) และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) รวม 22 ผลงานนำเสนอธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกต่อนักลงทุน พันธมิตรและคู่ค้าทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงพันธมิตรและพัฒนาความร่วมมือต่อไป
ผศ. ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า สวทช. มีภารกิจในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศผ่านเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้ผลงานวิจัย Deep technology ถูกนำออกไปใช้ประโยชน์ได้จริงและสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง สวทช. มีเครื่องมือ บุคลากร และบริการที่พร้อมให้การสนับสนุนการนำผลงานวิจัยด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อีกทั้งโปรแกรมที่ช่วยยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้กับ SME และ สตาร์ตอัป ได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี และ Food Innopolis ทั้งนี้เครื่องมือและบริการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผลงานวิจัยของ สวทช. ออกสู่ตลาดเท่านั้น แต่ยังพร้อมให้การสนับสนุนผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนด้วย
ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. กล่าวเสริมว่า สวทช. ได้ดำเนินการโครงการ NSTDA Deep Tech Acceleration ปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยเปิดรับสมัครผลงานวิจัยเชิงลึกที่มีการประเมินความพร้อมของงานวิจัยและเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) ไม่น้อยกว่าระดับ 4 และมีศักยภาพทางด้านการตลาดใน 3 กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ Food Technology, Healthcare Technology และ Internet of Things โดยในปีนี้มีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการจำนวน 22 ทีม ซึ่งเป็นนักวิจัยของ สวทช. อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ
“Deep tech venture ทั้ง 22 ทีมได้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะของ NSTDA Deep Tech Acceleration เพื่อขยับ TRL ได้แก่ การทำ Technology validation การทำ Market validation และการจัดทำมาตรฐาน โดยโครงการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้แก่ การ workshop อย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมความพร้อมด้านธุรกิจ ผ่าน 3 Bootcamp เงินทุนสนับสนุนสำหรับปรับปรุงผลงานและขอรับรองมาตรฐาน พร้อมกับระบบพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาเพื่อติดตามการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ในภาคของธุรกิจ ทั้ง 22 ทีมได้ปรับแผนธุรกิจ จัดทำแผนการเงิน และสร้างทีม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการ NSTDA Deep Tech Acceleration เป็นกระบวนการเร่งทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจเพื่อให้ผลงานวิจัยเชิงลึกที่มีศักยภาพสามารถไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว”
“โครงการ NSTDA Deep Tech Acceleration เป็นโครงการที่สวทช. ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. และดำเนินโครงการโดย สวทช. ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ รวมบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย รวมออกแบบและประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม NSTDA Deep Tech Acceleration และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและบริการของสวทช. ในการสนับสนุน deep tech venture ให้มีความพร้อมที่จะนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์”
รศ. ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนในการสร้างแพลตฟอร์ม NSTDA Accel ซึ่งต้องขอบคุณ สวทช. ที่ให้การสนับสนุนให้แพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถดึงผู้ประกอบการและนักวิจัยที่ร่วมในโครงการนี้ และสามารถใช้ระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม ของ สวทช. ซึ่งเป็น Ecosystem ที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีของผู้เข้าร่วมโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
“โครงการนี้ เราให้ทุนวิจัยไปที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย รวม 10 องค์กร 11 แพลตฟอร์ม ซึ่ง สวทช. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ บพข. สนับสนุนพร้อมกับ 9 มหาวิทยาลัย แต่ในส่วนของ สวทช. มีความโดดเด่นในเรื่องระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมและรองรับธุรกิจเทคโนโลยี อีกทั้งสามารถเตรียมทีมที่เป็นสตาร์ตอัป ทั้งส่วนของ สวทช. และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการติดอาวุธให้กับทั้งผู้ประกอบการและนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและใน สวทช. ให้มีความสามารถในทางธุรกิจและการตลาดมากขึ้น สามารถเห็นช่องทางการนำผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างขีดความสามารถให้ประเทศไทยมีความสามารถและเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขันได้เร็วและแข็งแกร่งในระดับนานาชาติ ซึ่งหากไปถึงจุดนั้นได้ บพข.ก็พร้อมให้การสนับสนุนต่อเนื่อง”