“GISTDA” จับมือ “กรมอุตุฯ” ใช้ภูมิสารสนเทศพัฒนางานวิจัย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศเชิงพื้นที่
10 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา (อต.) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และนางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนางานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศเชิงพื้นที่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าร่วมพิธีลงนามฯ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 7 GISTDA ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาพัฒนางานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศ ภายใต้โครงการ Sphere ซึ่งเป็น Platform ที่ครอบคลุมข้อมูลด้านแผนที่ในรูปแบบ Open Geospatial Platform โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลอื่น ๆที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน อาทิ ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากฤดูกาลและปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำที่เกิดจากการทิ้งช่วงของฝน หรือการใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมในการประเมินความเสียหายจากภัยที่เกิดจากสภาพอากาศเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย
ข้อมูลภูมิสารสนเทศจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงานในทุกมิติภายใต้ภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถนำมาพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสองหน่วยงานได้อีกด้วย ซึ่ง GISTDA เชื่อมั่นว่าความร่วมมือทางการวิจัยที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะการคาดการณ์แนวโน้ม รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
ทางด้าน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า GISTDA และ กรมอุตุนิยมวิทยา จะร่วมกันศึกษา วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด เทคโนโลยีที่ทั้ง 2 หน่วยงานมี จะถูกนำมาบูรณาการร่วมกันในการติดตามข้อมูลสภาพอากาศตามข้อเท็จจริงและจะร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรด้านข้อมูล ด้านองค์ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกันทั้งด้านอุตุนิยมวิทยาและด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อม การรับมือ และการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต