GISTDA เตรียมใช้เส้นใยกัญชงและไบโอเรซิ่นผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมกระตุ้นอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า จากผลการทดสอบและงานวิจัยที่เราทำ พบว่าใยกัญชงมีความแข็งแรงเทียบเท่าเส้นใยไฟเบอร์สังเคราะห์ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเอามาผลิตเป็นชิ้นส่วนประกอบของดาวเทียมที่เราจะผลิตเองในประเทศ สำหรับชิ้นส่วนประกอบของดาวเทียมที่เราสนใจคือ โครงสร้างที่รองรับแผงโซล่าเซลล์ของดาวเทียม เนื่องจากแผงตัวนี้ต้องการความเบาและมีความแข็งแรงทนทานสูง รวมถึงการสั่นสะเทือนของตัวดาวเทียมอีกด้วย หลังจากที่เราประสบความสำเร็จในการพัฒนาผู้ประกอบการจากไทยในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมดวงเล็กภายใต้โครงการ THEOS-2 มาแล้ว

สิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการในขั้นตอนต่อไปคือ การค้นหาและพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพอที่จะผลิตเส้นใยธรรมชาติให้ขึ้นไปถึงเส้นใยไฟเบอร์สำหรับวัสดุคอมโพสิทให้ได้ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ที่ประเมินไว้ในเบื้องต้นก็คือ กลุ่มเท็กซ์ไทล์และกลุ่มการ์เมนต์ รวมถึงผู้ผลิตด้านอากาศยานขนาดเล็ก หรือผลิตชิ้นส่วนคอมโพสิทส่งต่างประเทศที่เป็นการผลิตเครื่องบินและโดรน และปัจจุบันอยู่ในสายด้านการผลิตดาวเทียมที่มีความร่วมมือกับ GISTDA เช่น Aeroworks, Triumph Group, Carbon Magic โดยกระบวนการทั้งหมดจะต้องมีการทดสอบซึ่งไทย ซึ่งมีแล็ปที่ทำการทดสอบทางด้านคอมโพสิทอยู่แล้วก็คือ Galaxi LAB และเราจะใช้อาคารประกอบและทดสอบดาวเทียมที่ศรีราชาเป็นสถานที่ทดสอบดาวเทียมทั้งระบบ ซึ่งถือว่าเกือบจะทำได้ครบทั้งวงจรแล้ว

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ยังไม่เห็นประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียนที่มีการนำเส้นใยกัญชงมาใช้ในอุตสาหกรรมด้านอวกาศมาก่อน แต่ถ้าเป็นในเอเชียที่ใกล้เคียงที่สุดก็จะเป็นญี่ปุ่นที่จะสร้างดาวเทียมโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การนำเส้นใยกัญชงมาผลิตเป็นวัสดุชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมอวกาศจะต้องใช้เส้นใยกัญชงในปริมาณมากพอสมควร แต่ก็น่าจะเพียงพอกับปริมาณที่มีการปลูกภายในประเทศ ทั้งนี้ หากการนำเส้นใยกัญชงมาผลิตได้เป็นผลสำเร็จ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมอวกาศภายในประเทศอย่างแน่นอน เพราะเรามีจุดแข็งอยู่ที่การมีฐานการผลิต กระบวนการผลิต และลูกค้าภายในประเทศที่เป็นของเราเอง ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใช้งานได้ดีและมีความทนทานสูง จะสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศได้ด้วย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมดาวเทียมภายในประเทศ ยังเติบโตไม่มากนัก แต่ก็มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมหลายรายแล้ว หากเรากระตุ้นและสร้างโอกาสให้กับพวกเขาจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ภายในประเทศได้ ก็จะเกิดเป็น demand ในอนาคตมากพอสมควร ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำได้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ใช้และผู้ทำระบบปลายน้ำก็สามารถใช้วัตถุดิบภายในประเทศที่หาได้ และที่สำคัญไม่โดนกีดกันจากต่างประเทศ แล้วเราก็จะสามารถบริหารจัดการภายในประเทศได้อย่างยั่งยืน

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความแข็งแรงของเส้นใยกัญชง นอกจากที่เราจะวางเป้าหมายที่จะใช้ในอุตสาหกรรมประเภทดาวเทียมแล้ว เรายังจะใช้ในอุตสาหกรรมประเภทโดรนและส่วนประกอบของเครื่องบินอีกด้วย ทั้งยังต่อยอดไปที่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ต่างๆได้ ในด้านอุตสาหกรรมอวกาศนั้น GISTDA มีการเตรียมการในเรื่องนี้มามากพอสมควร เรามี Partner และกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้มแข็งที่เราจะสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศร่วมกันจากโครงการ THEOS-2 ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอวกาศถือเป็น New s-curve ที่ทางรัฐบาลได้วางเป้าหมายไว้ การพัฒนาโดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนตลอดจนภาคการศึกษาก็จะสามารถช่วยทำให้อุตสาหกรรมอวกาศยั่งยืนต่อไป

ด้าน ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศและหัวหน้าห้องปฏิบัติการ Galaxi ของ GISTDA กล่าวว่า บทบาทของ Galaxi LAB ในครั้งนี้ เรามีส่วนช่วยให้การทดสอบเส้นใยกัญชงและวัสดุประสานตระกูลไบโอเรซิ่นจากธรรมชาติเป็นผลสำเร็จ และที่สำคัญมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการด้านแอโรสเปซอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีความพร้อมที่จะร่วมผลักดันและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ปัจจุบัน Galaxi LAB มีความเชี่ยวชาญในการผลิตการขึ้นรูปจากคาร์บอนไฟเบอร์ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยผู้รับบริการที่เป็นผู้ผลิตอากาศยานจะกำหนดมาว่าชิ้นส่วนนี้จะต้องใช้วัสดุประเภทนี้และมีความแข็งแรงประมาณนี้ ต้องผ่านการทดสอบทางด้านมาตรฐานประเภทนี้ เพราะฉะนั้นบริษัทในประเทศไทยที่รับจ้างในการผลิตชิ้นส่วนจะดำเนินการผลิตชิ้นส่วนมาให้ GISTDA เพื่อทดสอบตามขั้นตอนเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ หากผ่านมาตรฐานแล้วก็จะสามารถนำไปใช้งานได้ทันที ทั้งนี้ Galaxi LAB ได้รับการรับรองมาตรฐาน AS9100 ISO/IEC17025 และ NADCAP

Leave a Reply

Your email address will not be published.