NARIT ผนึกกำลัง มช. ผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูงสู่เชิงพาณิชย์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) จับมือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกันพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมทางดาราศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสร้างสตาร์ทอัพสาย Deep Tech ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี วิศวกรรมขั้นสูง

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 – ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกสู่การสร้างสตาร์ทอัพ และการนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์” เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย วิชาการ การพัฒนา และต่อยอดนวัตกรรมทางดาราศาสตร์สู่เชิงพาณิชย์ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสตาร์ทอัพ โดยมี ผศ.ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ
และรักษาการผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสักขีพยาน

ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความพร้อมอย่างยิ่งในฐานะสถาบันการศึกษาที่จะร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และงานวิจัยให้สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาและการสร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและการปั้นสตาร์ทอัพ การันตีด้วยรางวัลด้านหน่วยบ่มเพาะธุรกิจดีเด่นระดับเอเชีย ที่พร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวนี้อย่างเต็มกำลัง ทั้งในด้านการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม ไปจนถึงการสร้างสตาร์ทอัพในสายเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech Startup) ภายใต้ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ของอุทยานฯ ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ในการสร้างและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยดาราศาสตร์มากว่า 10 ปี ปัจจุบัน สดร. มีห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีและวิศวกรรม 5 ด้าน เกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมหลายชิ้นงานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างช่องทางส่งผ่านองค์ความรู้และนวัตกรรมเหล่านั้นไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยจะร่วมกันนำงานวิจัยไปใช้ทั้งในรูปแบบของการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี การจัดตั้งสตาร์ทอัพ และการขอรับการสนับสนุนต่อยอดการวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ รวมถึงร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลจากผลงานทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่ไปสร้างชิ้นงาน ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม เกิดการลงทุนหมุนเวียนในระบบ ภายใต้วงล้อความสัมพันธ์ระหว่างงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง กับบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ โดยในระยะเริ่มต้นมุ่งหวังให้เกิดโมเดลในลักษณะดังกล่าวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนไปได้ก่อนเป็นอันดับแรก

ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า การลงทุนด้านการวิจัยดาราศาสตร์ คือการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง องค์ความรู้จากการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่ซับซ้อนที่สุดจากโจทย์ด้านดาราศาสตร์ บ่มเพาะให้เกิดความรู้ความเชี่ยวชาญแก่บุคลากร ที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมในงานสาขาอื่น ๆ ปัจจุบัน สดร. มีนวัตกรรมต้นแบบที่พัฒนาขึ้นภายใต้ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงที่พร้อมผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ อาทิ “รามานสเปกโตรสโคปี” จากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ “เครื่องช่วยหายใจต้นแบบ” จากห้อง ปฏิบัติการเทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ “เทคโนโลยี AR VR” ที่พัฒนาต่อยอดมาจากระบบฉายท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของ STeP ในการต่อยอดเทคโนโลยีเชิงลึกไปสู่การสร้างสตาร์ทอัพ คือเมื่อเทคโนโลยีขั้นสูงผ่านขั้นตอนของการพัฒนาจนพร้อมใช้งาน ก็จะสามารถต่อยอดไปได้ 2 ทาง ทางแรกคือการขอจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด รองรับการต่อยอดในส่วนนี้ ส่วนอีกทางคือการจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพได้ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ก็จะนำไปสู่การเข้าโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจของทาง STeP ต่อไป

พิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกสู่การสร้างสตาร์ทอัพ  และการนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published.