สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยมอบประกาศนียบัตร NanoQ แก่ 6 ผู้ประกอบการไทย พร้อมเปิดตัว NanoQ เพิ่มอีก 3 กลุ่ม สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดงานมอบประกาศนียบัตร NanoQ ปี 2565 ให้กับ 6 บริษัทที่ผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีนาโนเทคโนโลยีอยู่ และเปิดตัว NanoQ เพิ่มอีก 3 กลุ่มคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์นาโนขั้นกลาง (Intermediate nanoproduct), กลุ่มอนุภาคนาโนกักเก็บ (Nanoencapsulation) และ กลุ่มวัตถุดิบ (Raw materials) หวังช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน นาโนเทคโนโลยีถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโลกในอนาคต และเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการส่งเสริม การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ รวมถึงเป็นเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อน เศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเอง เป็นองค์กรที่สนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนา “นาโนเทคโนโลยี” ของประเทศไทยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถของอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้
“หนึ่งในพันธกิจของสมาคมฯ คือ การรับรองฉลากนาโนที่รู้จักกันในนาม “นาโนคิว” (NanoQ) ซึ่งเป็นฉลากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยี, วัสดุนาโน หรือวัสดุโครงสร้างนาโนในกระบวนการผลิต โดยวัสดุนาโนที่ผสมอยู่ภายในผลิตภัณฑ์ จะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีคุณสมบัติเฉพาะหรือพัฒนาขึ้นไปจากคุณสมบัติเดิม” ดร.วรรณี กล่าว พร้อมชี้ว่า เครื่องหมายฉลากนาโน (NanoQ) จะสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์นาโนที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุนาโนหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์นาโนซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ ประธานคณะกรรมการโครงการฉลากนาโน กล่าวว่า “ฉลากนาโน” เป็นการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์นาโน ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ให้บริการจะได้ตระหนักถึงจริยธรรมในการทำธุรกิจและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย ผู้ค้า ผู้ให้บริการ รวมถึงความน่าเชื่อถือในการใช้ผลิตภัณฑ์นาโนให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ให้บริการ และตลาดโดยรวมของประเทศ
ประธานคณะกรรมการโครงการฉลากนาโนกล่าวว่า เดิม สมาคมฯ ได้ให้การรับรอง “กลุ่มผลิตภัณฑ์นาโน (Nano Product)” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยวัสดุนาโนหรือมีการใช้นาโนเทคโนโลยีที่ต้องมีสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งคือ สมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial) หรือสมบัติการสะท้อนน้ำ (Water Repellant) โดยผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในลักษณะที่ลูกค้าพร้อมใช้ เช่น ถังเก็บน้ำ ผนังภายในรถพยาบาลยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย สียับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น แต่ด้วยปัจจุบัน มีการประยุกต์ใช้งานนาโนเทคโนโลยีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เราจึงเปิดให้การรับรองเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มผลิตภัณฑ์นาโนขั้นกลาง (Intermediate nanoproduct) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวัสดุนาโนหรือมีการใช้นาโนเทคโนโลยี และต้องมีผลการทดสอบสมบัติตามที่ระบุไว้ โดยผลิตภัณฑ์ยังไม่อยู่ในลักษณะที่พร้อมใช้ ผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มเติม เช่น ต้องมีการเติม สี กลิ่น หรือเพิ่มส่วนผสมอื่นในผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ อนุภาคนาโนกักเก็บสารไล่ยุง
กลุ่มอนุภาคนาโนกักเก็บ (Nanoencapsulation) เป็นอนุภาคโครงสร้างนาโนกักเก็บสารสำคัญ ซึ่งจะทำให้สารสำคัญมีความเสถียรภาพยาวนานขึ้น หรือเป็นการปรับปรุงสมบัติอื่นที่ไม่พึ่งประสงค์ของสารสำคัญ โดยส่วนใหญ่อนุภาคนี้จะใช้เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยเฉพาะที่หรือช่วงเวลาที่ตามต้องการได้ ตามมาตราฐานกระทรวงอุตสาหกรรมอนุภาค “โครงสร้างนาโน” นี้อาจมีขนาดใหญ่ได้ถึง 300-500 นาโนเมตร ดังตัวอย่างที่เห็นได้จาก มาตราฐานอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดขมิ้นชัน
กลุ่มวัตถุดิบ (Raw materials) เป็นวัสดุที่เข้าข่ายวัสดุนาโน วัสดุโครงสร้างนาโน หรือวัสดุที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต โดยเป็นวัตถุดิบที่จะใช้ในกระบวนการผลิตให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้ในการประยุกต์ที่หลากหลาย เช่น อนุภาคทองนาโน ท่อนาโนคาร์บอน
นางสาวชวิดา จิรรัตน์เดชา ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัทโว อินโนเวชั่น จำกัด เอกชนเจ้าของผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงสูตรนาโนซึ่งเป็นรายแรกที่ได้รับฉลากนาโนกลุ่มใหม่อย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์นาโนขั้นกลาง (Intermediate Nanoproduct) กล่าวว่า ปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรเติบโตการดำเนินธุรกิจต้องมีกลยุทธ์เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ สร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ และดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาล
“บริษัทได้เล็งเห็นว่า ฉลากนาโนหรือ NanoQ ของสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยนั้น จะช่วยในการสร้างมั่นใจในคุณภาพของสินค้า เป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งเรานำมาตรฐานที่ได้รับการรับรองสื่อสารให้ผู้ใช้งานได้เข้าใจว่า NanoQ เป็นมาตรฐานที่บริษัทฯ สามารถนำไปใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้า ในคุณภาพและมาตรฐานในการผลิตสินค้าสู่มือผู้บริโภคอย่างแท้จริง” นางสาวชวิดา กล่าว พร้อมชี้ว่า นอกเหนือจากการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์จากบริษัทฯ โดยที่เราสามารถนำไปสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็ได้รับประโยชน์จากการได้สินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่จะตื่นตัวในการพยายามคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีมาตรฐานเข้าสู่ตลาดต่อไป
นอกจากนี้ ภายในงานฯ ยังมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับ 6 บริษัทที่ได้รับฉลากนาโนจากสมาคมฯ ได้แก่ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ที เค ดี ไฟเบอร์ จำกัด, บริษัท เคนเซ่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด และบริษัท โว อินโนเวชั่น จำกัด
ที่สำคัญ ยังเปิดเวทีเสวนาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลจากภาคเอกชนทั้ง 6 บริษัทที่ได้รับประกาศนียบัตรทั้งหมดนั้น จากการผ่านการตรวจสอบ และรับรองให้สามารถใช้ฉลากนาโนบนผลิตภัณฑ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอีกด้วย
“เราเชื่อว่า ฉลากนาโน จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างความชัดเจนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อภาคประชาสังคม และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีสมบัติพิเศษ และใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิตจริง ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเพื่อขอการรับรองผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ประเภทได้ที่สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย” ดร.วรรณี นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยย้ำ