วว./วช. ตรวจเยี่ยมโครงการยกระดับศักยภาพท่องเที่ยวมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย เชื่อมโยงบูรณาการ มรภ. นครศรีธรรมราช

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ลงตรวจเยี่ยมและติดตามการบูรณาการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก วช. ในพื้นที่ดำเนินการจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การดำเนินงาน 2 โครงการ คือ โครงการวิจัยการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นเส้นทางท่องเที่ยวอ่าวไทย อันดามัน และพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคภาคใต้ และโครงการที่ 2 เป็นโครงการของ วว. ในโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ. ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งสร้างความเข้มแข็ง เสริมแกร่งผู้ประกอบการให้ยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมการตรวจเยี่ยมและติดตามงาน ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงความร่วมมือดำเนินงาน โอกาสนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร วช. นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารองค์กร วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เข้าร่วมกิจกรรม โดยตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การยกระดับมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์โกโก้ไทย ณ วันมอร์ไทยคราฟท์ช็อกโกแลต “ช็อกโกแลตคู่เมืองนคร” ศูนย์เรียนรู้การแปรรูปโกโก้ 2) การยกระดับมาตรฐานท่องเที่ยวชุมชน (CBT) มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยรองรับการท่องเที่ยว (Safety & Health Administration-SHA) และผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว ณ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวลูกไม้คีรีวง และ 3) การยกระดับมาตรฐานการผลิตของกลุ่มผลไม้แปรรูปคีรีวง ได้แก่ จำปาดะกวน ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และลูกหยีสามรส

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า การดำเนินงานบูรณาการเครือข่าย มรภ. และ วว. เป็นอีกผลลัพธ์จากการให้ทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างเครือข่าย มรภ. 38 แห่ง และ วว. เพื่อร่วมกันผลักดันและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีภารกิจสำคัญในการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยเสริมในการพัฒนาชุมชน นำศักยภาพองค์ความรู้และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่เป็นหน่วยงานสำคัญที่ใกล้ชิด รู้ปัญหาของชุมชน สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ตรงกับบริบทของกลุ่ม สำหรับ วว. มุ่งพัฒนาต่อยอดประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับการพัฒนาด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบกับมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ที่พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาบุคลากรและห้องปฏิบัติการของ มรภ.ที่รองรับการพัฒนาด้านมาตรฐานต่างๆ สามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน

“…การบูรณาการจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ กิจกรรมการตรวจเยี่ยมติดตามงานบูรณาการงานวิจัยครั้งนี้ เป็นผลของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ให้มีศักยภาพ มาตรฐาน ยกระดับผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว ทั้งด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรับรองระบบคุณภาพกระบวนการผลิต มาตรฐานเกษตรปลอดภัย ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน ส่งผลให้เกิดผลสำเร็จ Success case…” ผู้อำนวยการ วช. กล่าว

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ  วว. กล่าวถึงการดำเนินงานบูรณาการเครือข่าย มรภ. และ วว. ว่า ร่วมดำเนินงานจำนวน  2  โครงการ ได้แก่  โครงการที่ 1  โครงการวิจัย “การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นเส้นทางท่องเที่ยวอ่าวไทย อันดามัน และพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้” โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคภาคใต้ ประกอบด้วย มรภ.นครศรีธรรมราช มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.สงขลา มรภ.ยะลา และมรภ. ภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารเส้นทางท่องเที่ยวอ่าวไทย อันดามัน และพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ให้ได้รับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง  โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาการผลิตและบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และจำปาดะกวน ของชุมชนอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้าวคั่วกุ้งกรอบและปลากดทะเลทรงเครื่องสมุนไพรของชุมชนลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำพริกกั้งและขนมบุหงาฆูลาของชุมชนตะโละใส อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซุปไก่บ้านและขนมซาฆังของชุมชนโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ก้างปลาแคลเซียมและน้าสับปะรดพาสเจอร์ไรท์ของชุมชนโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา  ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน อย. จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ จำปาดะกวน ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และน้ำสับปะรดพาสเจอร์ไรท์

     2.พัฒนาช่องทางการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานอาหารพื้นถิ่นให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแบบออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้า ได้แก่ LAZADA และ Shopee เพจ  เฟสบุค ช่องยูทูป tiktok และการไลฟ์สดขายสินค้า และช่องทางการตลาดแบบออฟไลน์ โดยใช้การสื่อสารผ่านเว็บไซต์ การขายผ่านร้านค้าชุมชนหรือหน่วยงาน การออกงานมหกรรมสินค้า ผสมผสานกับโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบ FAM Trip ร่วมกับบริษัทนาเที่ยวและหน่วยงานภาครัฐด้านการตลาด  3. การพัฒนาชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวลูกไม้คีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชน CBT Thailand และมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยทางการท่องเที่ยว (SHA Standard) ในระดับดีเยี่ยมจากกรมการท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้รับการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อเตรียมเปิดรับการท่องเที่ยว (Amazing Thailand Safety and Health Administration -SHA) รองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 และมาตรฐานที่พักนักเดินทาง (Home Lodge) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทที่ 2 The Mountain

     โครงการที่ 2  โครงการวิจัย “ยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ.” โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ซึ่งมี นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร วว. เป็นหัวหน้าโครงการฯ  โดยได้ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการประเภทอาหารในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน อย. ดังนี้   1) ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน อย. ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารด้วยการวิเคราะห์ทดสอบ ตามรายการการตรวจสอบของแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ โดยห้องปฏิบัติการของ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา (ศทม.) วว. หรือห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐาน เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปแนบยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนด อย.  2) การเตรียมความพร้อมสถานที่ผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์ Primary GMP/GMP ให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อการยื่นขอสถานที่ผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์ Primary GMP/GMP  3) การตรวจประเมินสถานที่ผลิต หากรายใดมีความพร้อม วว. ซึ่งเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองที่ขึ้นบัญชีกับ อย. สามารถให้ตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขออนุญาตผลิตอาหาร ออกรายงานบันทึกการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร รวมทั้งออกรายงานบันทึกการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำรายงานการตรวจประเมินสถานที่ผลิต ร่วมกับผลวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ (ตามข้อที่ 1) ไปยื่นขอรับรองมาตรฐานจาก อย. หรือสาธารณสุขจังหวัด เพื่อขออนุญาตรับเลขสารบบ “13 หลัก” (เลข อย.) ตามแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารควบคุมเฉพาะ อาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน และอาหารที่ต้องมีฉลาก

ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  วว.  ได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับ วันมอร์ไทยคราฟท์ช็อกโกแลต “ช็อกโกแลตคู่เมืองนคร” โดยได้นำผลิตภัณฑ์ดาร์กช็อกโกแลตไปวิเคราะห์ตามรายการประเภทอาหารช็อกโกแลต  ผลการวิเคราะห์พบว่ามีสารกลุ่มคาโรทีน แคลเซียม กลุ่มไขมันที่จำเป็นต่อร่างการสูง  เป็นกลุ่มสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสะและทำให้อารมณ์ดี  รวมทั้งได้เตรียมพร้อมการยกระดับมาตรฐานสถานที่ผลิตเพื่อขอ อย. ต่อไป  และในกลุ่มผลไม้แปรรูปคีรีวง วว. ได้ไปตรวจสถานที่ผลิตโดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) และตรวจสอบผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ของกลุ่มคีรีวงโดยห้องปฏิบัติการของศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา  ให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูป 3 ชนิด ได้แก่ จำปาดะกวน ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และลูกหยีสามรส  ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ได้รับ อย. เรียบร้อยแล้ว  ซึ่งเป็นการช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published.