สอวช. – ภาคเอกชน มั่นใจจากความสำเร็จในเวทีเอเปค 2022 จะนำไปสู่การเป็น บีซีจีโมเดลของโลก เผยต้นแบบการดำเนินการภาคเอกชน BCG Model ไทย มาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการเสวนาผ่านรายการ Future Talk by NXPO ในหัวข้อ “Circular Economy : ผลสำเร็จจากเวทีเอเปค สู่จุดยืนประเทศไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางจิรายุณัฐ อัจฉริยะขจร เจ้าของแบรนด์ One more ช็อกโกแลตสัญชาติไทย และ นายนรชัย รังสีวิจิตรประภา ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. ดำเนินรายการโดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช.

ดร.ศรวณีย์ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 และได้ยกประเด็นโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยมีเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในเวทีนี้ เพื่อตอบโจทย์การนำพาประเทศและเขตเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยวางเป้าหมายสำหรับเวทีนี้ให้เกิดการทำงานร่วมกันในเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก จะทำให้เกิดความเข้มแข็งทางการค้าและความร่วมมืออื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจนี้ นอกจากนี้เศรษฐกิจหมุนเวียนยังสนับสนุนผู้ประกอบการ/ภาคเอกชนในมิติภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มิติภาคบังคับของการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหากเราปรับตัวเร็วก็จะเป็นโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะสามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องมีความจริงจังและให้ความสำคัญ และเป็นจังหวะที่ดีที่ได้ถูกหยิบยกเป็นวาระในการประชุมเอเปค 2022 นี้

นายนรชัย กล่าวว่า ความสำเร็จจากการประชุมเอเปค เป็นที่มาของ Bangkok Goals ที่นานาประเทศในกลุ่มเอเปค ยอมรับแนวทางนี้ที่ริเริ่มโดยประเทศไทย ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเอง ก็มีการระบุไว้ชัดเจนว่าจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนได้ ทั้งนี้ ในส่วนของ สอวช. ที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในระดับนโยบายและระดับผู้ประกอบการ โดยระดับนโยบาย ได้จัดตั้ง CE Innovation Policy Forum ขึ้นมา ให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของผู้ประกอบการได้สนับสนุนให้เกิดโครงการสร้างขีดความสามารถในการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อเสริมสร้าง และติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันในระดับเอเปค สอวช. มีศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) ที่มีบทบาทในการจัดทำแผนภาพของเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังร่วมกับหลายเขตเศรษฐกิจ จัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตามหากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง ต้องดำเนินการใน 3 แนวทางคือ 1. สร้างระบบนิเวศผ่านหน่วยงานและมาตรการต่าง ๆ โดย สอวช. ตั้งใจจะพัฒนาความร่วมมือกับหลายภาคส่วนตามแนวทาง CE Vision 2030 เพื่อให้ดำเนินการไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน 2. สนับสนุนผู้ประกอบการ โดย สอวช. ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างขีดความสามารถและเครื่องมือที่เป็นสิ่งกระตุ้น(Incentive) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอีในการประกอบธุรกิจ และ 3. สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในการทำแผนที่นำทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเพื่อให้เกิดการทำงานกับเครือข่ายในภูมิภาค ภายใต้บทบาทศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight)

ด้านนายเฉลิม กล่าวว่า หลายสิบปีก่อน บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และได้เข้าโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากนั้นนำมาปรับใช้กับธุรกิจเกษตรที่เราทำ และน้อมนำแนวคิดมาดำเนินงานคือ สินค้าเกษตรเราไม่สามารถเพิ่มราคาได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ ลดต้นทุนแล้วทำผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรที่มีเฉพาะที่ (สินค้า GI (Geographical Indications) ซึ่งเราได้เป็นต้นแบบสำคัญที่ต่อยอดมาสู่บีซีจี และสู่เป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายใน 8 ปี

นายเฉลิม กล่าวว่า หลังการประชุมเอเปค ประเทศไทยเรามีความพร้อมมาก เนื่องจากเรามีหน่วยงานมีความรู้ ความสามารถ ผู้บริหารหน่วยงาน ไปจนถึงผู้นำประเทศ ให้ความสนใจและผลักดันเรื่องบีซีจีอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่ท้าทายคือ เราจะนำความรู้ความสามารถนั้น มาร่วมกันจัดการได้อย่างไร ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ชัดเจน มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทุกคนก็จะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน และหากมีต้นแบบที่ชัดเจน เกิดมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ประเทศไทยก็จะสามารถเป็นโมเดลบีซีจีของโลกได้

ดร. สวนิตย์ กล่าวว่า บีซีจีเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้เห็นในหลาย ๆ มิติ อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายว่า หากต้องการส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการแข่งขันก็อยากจะผลักดันให้เกิดศูนย์กลางความเป็นเลิศทางด้านชีวภาพให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยตรง นอกจากนี้อยากให้มีกลไกภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างแรงจูงใจในด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี รางวัลต่าง ๆ รวมไปถึงการปลดล็อกทางกฎหมาย เป็นต้น

นางจิรายุณัฐ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจากพื้นที่ มีจุดเริ่มต้นมาจากการเห็นคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ที่เรามีคือ โกโก้ ซึ่งในชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ปลูกกันมายาวนาน โดยปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน กะท้อน รวมถึงพืชสวนครัว ผ่านการปลูกแบบออร์แกนิค อย่างไรก็ตามในช่วงแรกเรายังไม่รู้หลักการแปรรูป หรือทำออกมาเป็นธุรกิจ จึงค่อย ๆ ศึกษาเรียนรู้ โดยยึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบ เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม จนมาถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ปรับบรรจุภัณฑ์  ให้เป็นธรรมชาติ และมีความเป็นไทย คงเอกลักษณ์ท้องถิ่น สอดรับกับความมั่นคงทางด้านอาหาร และเป็นครัวของโลกได้ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ควรอยู่ในทุกธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จะไม่ใช่แค่เพียงการกำจัดขยะ แต่จะไหลเวียนไปสู่เกษตรกร พัฒนาไปสู่พืชเกษตรชนิดอื่น ๆ เช่น การใช้น้ำตาลมะพร้าวในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต การออกแบบเสื้อผ้าที่ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชน และยังเป็นต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กลุ่มนักศึกษาและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาได้อีกด้วย

“เรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีแง่คิดในการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ เข้าใจการใช้ซ้ำ และบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างเต็มศักยภาพ แม้เราจะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ แต่ก็ขอเป็นจิ๊กซอว์ ตัวน้อย ๆ ที่จะขับเคลื่อนสู่เป้าหมายใหญ่ของประเทศได้” นางจิรายุณัฐ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published.