เซ็นทรัลแล็บไทย-ซินโครตรอน-บสย. ผนึกกำลังยกระดับ SMEs เกษตรแปรรูปด้วยงานวิจัย เติมทุน หนุน “ค้ำประกัน”

3 องค์กรภาครัฐ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จับมือ ยกระดับภาคเกษตรแปรรูปด้วยงานวิจัย สร้างโอกาส SMEs เข้าถึงนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการกลางและเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน พร้อมโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

กรุงเทพมหานคร – บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย โดยนายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการเซ็นทรัลแล็บไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดย รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทางด้านวิชาการแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่ออุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีนายเอด วิบูลย์เจริญ ประธานคณะกรรมการเซ็นทรัลแล็บไทย และประธานคณะกรรมการ บสย. เป็นประธานในพิธีลงนาม เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ณ อาคารศูนย์ฝึกอบรมและการประชุม ห้องปฏิบัติการกลาง กรุงเทพมหานคร

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า “การลงนามครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญของการยกระดับภาคเกษตรแปรรูปให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย บสย. พร้อมช่วย 3 ด้าน คือ 1.สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุน โดย บสย. เป็นผู้ค้ำประกัน 2.ให้คำปรึกษาทางการเงินและธุรกิจ การลงทุน ต่อยอดขยายกิจการ พัฒนาธุรกิจ โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A.Center เป็นพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้บริการเซ็นทรัลแล็บไทย และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน 3.พร้อมเป็นหลักประกัน “ค้ำประกันสินเชื่อ” ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินทุนแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอสามารถเข้าถึงสินเชื่อ โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ผ่านช่องทาง LINE TCG First และตรวจสุขภาพทางการเงินฟรี

“การบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งเซ็นทรัลแล็บไทย และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมสนับสนุนยกระดับมาตรฐานสินค้า โดยนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการวิจัย วิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงและพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรม และเกษตรแปรรูป ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้ามาใช้บริการโดย บสย. พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุน ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงิน ร่วมกันยกระดับและเสริมแกร่งผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน”โดยจากความร่วมมือครั้งนี้มีโอกาสที่จะช่วยเหลือ SMEs ได้ถึง 500 ราย วงเงินค้ำประกันประมาณ 1,000 ล้านบาท นายสิทธิกร กล่าว

ส่วน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือทางวิชาการมาโดยตลอด ซึ่งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมด้านวิชาการในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการเซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า “เซ็นทรัลแล็บไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 และในโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนงานบริการและยกระดับมาตรฐานสินค้า ให้แก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มการผลิต ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่ม SMEs ซึ่งถือเป็นฐานรากเศรษฐกิจของประเทศนั้น หาก SMEs มีความเข้มแข็งก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดียิ่งขึ้น

“การลงนามในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ถือเป็นการยกระดับการบริการอย่างครบวงจร สร้างทางเลือกที่หลากหลาย และยังช่วยส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง” นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published.