ผู้บริหาร นาซ่าเยือน GISTDA หารือ “งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โลกและสภาพภูมิอากาศ”

23 มกราคม 2566 : ดร.คาเรน เซ็นต์ เจอร์เมน ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์โลก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (นาซ่า) พร้อมคณะ เข้าหารือเรื่องงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์โลกและสภาพภูมิอากาศ กับ GISTDA โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และคณะ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนกันถึงนโยบายและกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์โลก (Earth Science)

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การมาของนาซ่าในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่นาซ่าจะได้เห็นถึงนโยบายและการดำเนินกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์โลกของประเทศไทย ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินการอยู่ และ GISTDA เป็นหนึ่งในหน่วยงานของ อว. ที่ร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้น โดยการหารือในครั้งนี้ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับงานวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศ วิทยาศาสตร์โลก (ESS) ซึ่งการหารือดังกล่าวจะเป็นการหารือเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านวิจัยระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และสอดรับกับแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ 20 ปีในยุทธศาสตร์ที่ 2 กิจการอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 5 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ นอกจากนี้ ผู้บริหารนาซ่า ยังได้แสดงความยินดีกับ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ CEOS Chair 2023 ซึ่ง ดร. คาเรน ได้ดำรงตำแหน่งนี้เมื่อปี 2021 ทั้งนี้ นาซ่าและ GISTDA เห็นพ้องกันที่จะให้การสนับสนุน CEOS ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลก

ต่อมาในวันอังคารที่ 24 มกราคม 2566 ผู้อำนวยการ GISTDA ได้พานายโรเบิร์ต เอฟ โกเดก (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ดร.คาเรน และคณะซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจาก United States Agency for International Development (USAID) และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ Space Krenovation Park (SKP), GISTDA อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยเข้าเยี่ยมชมศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (Satellite Assembly Integration and Test, National AIT Center) และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Research Center) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่สำคัญของไทยที่พร้อมสำหรับการดำเนินความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั้งนี้ไทยและสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการจัดเตรียมความพร้อมด้านความร่วมมือต่างๆ เพื่อจัดการประชุมหารือด้านอวกาศระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 3 (3rd Thailand-U.S. Space Dialogue) ในปี 2566 ต่อไปอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.