สกสว. – ภาคีวิจัย เร่งพัฒนา แพลตฟอร์มเชื่อมงานวิจัยเกษตรกับผู้ใช้

8 กรกฎาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม ระดมความคิดเห็นประเด็น National RU Platform แพลตฟอร์มเชื่อมโยงงานวิจัยด้านการเกษตรกับผู้ใช้ประโยชน์ ร่วมกับ ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยด้านการเกษตร

รองศาสตราจารย์ ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ระบบ ววน.) สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า ตามที่ สกสว. มีภารกิจในการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลลัพธ์ และผลกระทบต่อประเทศ ได้เล็งเห็นว่างานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรมีความสำคัญอย่างมากในการยกระดับความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกร แม้ว่าจะมีงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปใช้ในการยกระดับชีวิตเกษตรกรได้ชัดเจน

ที่ผ่านมามีหลายภาคส่วน ได้ทำการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตรไว้เบื้องต้นแล้ว แต่ฐานข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการส่งเสริมการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ สกสว. จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงงานวิจัยด้านการเกษตรกับผู้ใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานภาคี โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการเกษตร และจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตงานวิจัยและผู้ต้องการใช้ประโยชน์ ที่ผู้ต้องการใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงงานวิจัยและนำเสนอโจทย์หรือความต้องการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่านระบบออนไลน์ โดยการประชุมในวันนี้ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาคีได้นำเสนอข้อมูลภาพสรุปงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด ลำไย และมันสำปะหลัง เพื่อรับฟังความต้องการโดยอิงจากข้อมูลจริง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบแม่แบบกลางในการเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์ม เพื่อใช้เป็นพิมพ์เขียวในการออกแบบระบบ และนำข้อมูลงานวิจัยที่เป็นแนวทางตัวอย่าง (best practice) รวบรวมเป็นแคตตาล็อกงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดต่อไป

โดยการประชุมวันนี้ ตัวแทนหน่วยวิจัยจากภาคมหาวิทยาลัย ได้ร่วมนำเสนอโครงการวิจัยทางด้านการเกษตรที่มีการต่อยอดงานและถ่ายทอดงานไปสู่ผู้ใช้ที่น่าสนใจ อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำเสนอผลงานวิจัย “ชุดวิเคราะห์ดินแบบพกพา” ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจวัดประสิทธิภาพของดินในพื้นที่ของตนได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ สอดคล้องและมีที่มาจากการที่นโยบายของประเทศไทย มีการปรับเปลี่ยนและปรับตัวด้านระบบการผลิตทางการเกษตรเป็นลักษณะ “แปลงใหญ่” ดังนั้นการพัฒนาวิธีการต่าง ๆ เพื่อรองรับและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการปลูกพืชแปลงใหญ่นี้จึงมีความสำคัญ นอกจากตัวอย่างผลงานวิจัยด้านการเกษตรที่น่าสนใจ การประชุมวันนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูล รายงานสรุปสถานการณ์การวิจัยของสินค้าเกษตรหลายชนิด เพื่อจะนำไปสู่การสกัดข้อมูลที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานด้านการเกษตร และเพื่อหารือถึงแนวทางการกำหนดตัวชี้วัดการนำผลงานวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์

Leave a Reply

Your email address will not be published.