สวทช. ร่วมกับ กสทช. เปิดตัว “โครงการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และผลิตภัณฑ์ IoT ของไทยสู่อาเซียน”
(23 มีนาคม 2566) ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 3 อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จัดสัมมนาเปิดตัว “โครงการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT) ของไทยสู่อาเซียน” Uplift Thai’s Service Robots and Internet of Things (IOT) to ASEAN เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ เสริมศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งในด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT) ทัดเทียมนานาประเทศ โดยการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยงานสัมมนาได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานเปิดงาน
ทั้งนี้ภายในงานยังจัดสัมมนาพิเศษเรื่อง “โอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT)” นำโดย ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ดร.พนิตา เมนะเนตร นักวิจัยห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดร.นิพัทธ์ รัศมีโกเมน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีทีที เรส จำกัด ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด และ นายอัครพล สุขตา กรรมการบริหาร สมาคมไทยไอโอที พร้อมด้วย ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ นั่นคือ หุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงาน ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของแขนกล กับหุ่นยนต์ขนย้ายวัสดุสินค้า AGV (Automatic Guided Vehicle) ที่โดยรวมเรียกว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และหุ่นยนต์บริการ ที่แบ่งออกหลายประเภท เช่น หุ่นยนต์เคลื่อนที่ ที่ใช้ในการขนส่งพัสดุในสำนักงาน เสิร์ฟอาหาร ขนส่ง ขนสินค้าระหว่างอาคาร ทำความสะอาดบ้าน
โดยจุดเด่นของการใช้หุ่นยนต์ อยู่ที่ความคล่องตัวในการใช้งาน สามารถปรับแต่งให้ทำงานได้หลากหลาย และเมื่อรวมเข้ากับการทำงานของ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ยิ่งทำให้หุ่นยนต์พัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ก้าวขึ้นมาเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนเทคโนโลยีระบบ IoT นี้ ได้เข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมมากมาย เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) หรือ แม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวมาก เช่น ความสะดวกสบายในที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเปิด/ปิดเครื่องปรับอากาศ แสงสว่างในบ้าน เป็นต้น เมื่อมีความต้องการใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะพัฒนาฟังก์ชันการทำงานเพื่อให้ใช้งานได้ก่อน ส่วนเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานและเรื่องอื่น ๆ เช่น ความสอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลนั้น ยังต้องใช้ความพยายามและทรัพยากรค่อนข้างมาก เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งยังขาดที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำ หากผู้ประกอบการมีความประสงค์ที่จะเข้ารับการทดสอบและรับรองทางด้านความมั่นคง ความปลอดภัยในการใช้งานและข้อมูล ต้องส่งไปทดสอบและขอการรับรองจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้รายงานผลการทดสอบและใบรับรองผลิตภัณฑ์ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการขออนุญาตส่งออกไปยังต่างประเทศ
ดังนั้นการที่จะช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของไทยสามารถออกสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ และการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและผลิตภัณฑ์ IoT จากต่างประเทศเข้ามาใช้งานในประเทศ ให้มีความมั่นคงปลอดภัยและสอดคล้องกับกฎระเบียบต่าง ๆ ของประเทศไทยและในระดับสากลนั้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลาง ทำหน้าที่เป็นกลไกในการส่งเสริม พัฒนา ให้คำปรึกษาตลอดจนทดสอบคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน
ด้าน ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการเพื่อยกระดับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และผลิตภัณฑ์ IoT สู่อาเซียน เริ่มตั้งแต่การให้บริการพัฒนานวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเข้มข้น การให้คำปรึกษาทั้งทางด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างต้นแบบ โรงประลอง สนามพัฒนาทักษะการนำเสนอ และจัดหาที่ปรึกษาด้านคุณภาพมาตรฐานให้เพียงพอต่อความต้องการ ตลอดจนการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และ ผลิตภัณฑ์ IoT ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากลแบบครบวงจรให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)