สวทช. ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ S-Curve สู่นักเรียนและครูในพื้นที่ EEC เสริมรากฐานด้านกำลังคนเพื่อความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม 2566 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนและครูในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2566 (NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้ธีม “สวทช.: ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน กิจกรรมดังกล่าวได้มีกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ในวันที่ 29 และ 30 มีนาคม 2566 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และอาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จ.ปทุมธานี จำนวน 4 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมนักนวัตกรรมเกษตร Indoor Farming กิจกรรมไวรัส วายร้าย และกิจกรรมการประดิษฐ์ชุดหลอดไฟส่องสว่าง LED แบบหมู่คณะเชื่อมความสามัคคี โดยความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และกิจกรรมสำหรับครู จำนวน 1 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสนุกกับกิจกรรมเรียนรู้สะเต็มศึกษากับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทย ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบผ่านการฟังการบรรยายและกิจกรรมการทดลองปฏิบัติจริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำแนะนำในระหว่างทำกิจกรรม พร้อมทั้งปลูกฝังให้นักเรียนในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สนใจและเข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาความเจริญของประเทศ
กิจกรรม “นักนวัตกรรมเกษตร Indoor Farming” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 100 คน จัดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2566 รุ่นที่ 1 ช่วงเช้า และรุ่นที่ 2 ช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ รับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีในโรงงานผลิตพืช Plant Factory และลงมือปฏิบัติกิจกรรม นักนวัตกรรมเกษตร Indoor Farming เน้นการนำความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียน เรื่องกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ความยาวคลื่นและความเข้มของแสงที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืชมาใช้ออกแบบแสงเทียมจากหลอดไฟ LED แทนแสงจากดวงอาทิตย์ในการควบคุมการเจริญเติบโต มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกระถางปลูกพืชในร่ม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “ไวรัส วายร้าย” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 50 คน จัดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2566 ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับไวรัสวิทยาขั้นพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานของไวรัสชนิดต่าง ๆ พยาธิสภาพของโรคติดเชื้อไวรัส พาหะของไวรัส การระบาดของไวรัส ผลกระทบของการระบาดครั้งยิ่งใหญ่ รวมไปถึงการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส การเตรียมพร้อมด้านวัคซีนและการเตรียมพร้อมต่อไวรัสที่จะอุบัติใหม่ในอนาคต โดยจะเป็นการบรรยายในรูปแบบการอภิปรายไปพร้อมกับเยาวชน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้เยาชนแบ่งกลุ่มลงมือออกแบบไวรัสโครงสร้างต่าง ๆ ด้วยตนเอง และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการฟังบรรยายทั้งหมดมาบูรณาการณ์เชื่อมโยงเกี่ยวกับไวรัสและอภิปรายให้เพื่อน ๆ ฟัง
กิจกรรม “สนุกกับกิจกรรมเรียนรู้สะเต็มศึกษากับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ของไทย ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG” สำหรับครูระดับมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 25 คน ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้แนวทางการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษากับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทย ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG และลงมือทำกิจกรรมสุคนธบำบัด (Aromatherapy) สกัดน้ำมันหอมระเหย โดยใช้ภูมิปัญญาไทยและสะเต็มศึกษา
และกิจกรรม “การประดิษฐ์ชุดหลอดไฟส่องสว่าง LED แบบหมู่คณะเชื่อมความสามัคคี” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 50 คน ผู้เข้าร่วมได้ทำความรู้จักกับ EZ-LED light kits หรือชุดหลอดไฟส่องสว่าง LED อย่างง่ายที่เป็นเทคโนโลยีไฟฟ้าโซลาร์เซลล์แบบพื้นฐานจากห้องปฏิบัติการสู่การนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชนถิ่นทุรกันดารของโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริฯ ภายใต้การกำกับของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผลงานการประดิษฐ์ของนักเรียนจะนำไปมอบให้กับชาวบ้านเพื่อใช้งานจริงในกิจกรรมครัวเรือนของชุมชนต่อไป
ด้าน นายภูมิพัฒน์ อึ้งเสือ นักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้รับความรู้และการต่อวงจรไฟฟ้า ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนและได้ช่วยเหลือคนอื่น ชอบการต่อวงจร การต่อไฟ ทำให้เรามีทักษะในการทำงาน ได้ลงมือทำเอง ทำให้เราได้มีประสบการณ์
เช่นเดียวกับ ด.ญ.กฤษติกา ดวงแก้ว นักเรียนโรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง ที่อธิบายถึงความรู้ใหม่ที่ได้จากการอบรม ว่า “หนูกำลังทำโครงงานเกษตรในร่ม และไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเข้มแสงเท่าไหร่นัก เพราะใช้แสงไฟอย่างเดียว พอได้มาร่วมกิจกรรมก็ได้รู้ว่าความเข้มแสงมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชมาก ๆ เลยค่ะ และชอบตรงที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง”
ขณะที่ นายกฤษณะ ศรัทธาผล ครูโรงเรียนประภัสสร จ.ชลบุรี กล่าวว่า กิจกรรม “สนุกกับกิจกรรมเรียนรู้สะเต็มศึกษากับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ของไทยตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG” เมื่อได้อบรมแล้วทำให้เห็นชัดเจนว่า บ้านเราเป็นเมืองเกษตรกร และกำลังทำ lab เกี่ยวกับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จุดเด่นคือต่างประเทศปลูกไม่ได้ แต่บ้านเราปลูกได้ ถือเป็น soft power อย่างหนึ่ง และได้นำไปทำเป็นกิจกรรมให้กับนักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งไม่เคยทำและไม่ทราบว่ามาก่อนว่าสามารถทำแบบนี้ได้ เช่น การปลูกกล้วยไม้แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่ประเทศไทยทำอยู่แล้ว เช่น duty free ส่งออกไปต่างประเทศทั่วโลก ก็ถือว่าเป็น soft power อย่างหนึ่ง