ไอแทป (ITAP) สวทช. ผนึก พันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนศักยภาพ ‘การเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง’ ของประเทศไทย
(วันที่ 14 มิถุนายน 2566) ณ ห้องประชุม SD 601 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ นักวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นักวิชาการจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. อาจารย์จากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท คะตะลิสต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจเพื่อสังคม จัดสัมมนา แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเสริมศักยภาพการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรงในประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่ทั่วทุกภูมิภาค และผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์กว่า 200 คน
นางสาวนันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัว โดยหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธุรกิจผลิตอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัย รู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบ และผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลกในขณะนี้ คือ ไข่ไก่ที่มาจากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง หรือ cage free egg เป็นสินค้าที่ตอบรับเทรนด์การบริโภคที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) มีความปลอดภัย และปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า ในปี 2562 ตลาดไข่ไก่ cage free ของโลกมีมูลค่า 4.98 ล้านดอลลาร์ และจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.75 ต่อปี ในช่วงปี 2563-2568 มีแนวโน้มการเติบโตสวนทางกับไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบกรงตับ (battery cage)
“การเลี้ยงในกรงตับนั้น มีข้อจำกัดด้านพื้นที่และแออัด ทำให้แม่ไก่ไม่สามารถแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น คุ้ยเขี่ย บิน เกาะคอน ได้ ส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียดสูง สุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่าย นำไปสู่การให้ยาปฏิชีวนะแบบหว่าน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยา รวมถึงนําไปสู่การเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ เช่น โรคหวัดนก เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และ/หรือ องค์กรอิสระ ที่จะช่วยกันสนับสนุนและจูงใจให้ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ ปรับระบบการเลี้ยงไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบไม่ขังกรง (cage free) นอกจากจะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจไก่ไข่ จากการมีมาตรฐานรับรองที่ชัดเจน ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผลิตภัณฑ์ไข่ cage free แล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้บริโภคด้วย”
ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP กล่าวว่า สำหรับการจัดสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเสริมศักยภาพการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรงในประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นกิจกรรม ภายใต้ “โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง (cage free egg) ให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare)” ซึ่งมีนักวิชาการภาครัฐและเอกชน ที่เชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการฟาร์มและอาหารสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การวิจัยพัฒนาสารเสริมจากจุลินทรีย์สำหรับใช้ในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน เป็นต้น มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในมิติด้านต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ประกอบการและฟาร์มไก่ไข่ มีความรู้ ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรงของประเทศไทย ซึ่งภายหลังงานสัมมนานี้ ทีมวิชาการของ สวทช. และเครือข่ายความร่วมมือ จะร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการเชิงลึก และให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ขนาดเล็กและขนาดกลาง อย่างน้อย 10 ราย และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมการสร้าง trainer ระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง เพื่อรองรับและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในอนาคต ให้การเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรงของประเทศไทย มีรูปแบบที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานตามหลักของ animal welfare ในบริบทของประเทศไทย และสากลยอมรับ.