สวค. จับมือ สกสว. เปิดเวทีประชุม ‘Blue Marble Evaluation’ แนวคิดการประเมินระดับโลก สู่การประเมินการวิจัยไทย

21 กรกฎาคม 2564 ผศ.ดร. ประพัฒชนม์ จริยะพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ ครั้งที่ 4 ภายใต้ หัวข้อ “Blue Marble Evaluation” หรือ “แนวคิดการประเมินหินอ่อนสีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นแนวคิดการประเมินที่นิยามโลกทั้งโลกเป็นหน่วยได้รับการประเมิน โดยมีตัวอย่างประเด็นประเมินที่สำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ผู้ลี้ภัย  มลพิษในมหาสมุทร ความยากจน  การก่อการร้าย  การค้ามนุษย์  เศรษฐกิจโลก โรคระบาดใหญ่ เป็นต้น โดยการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญส่วนหนึ่งของ โครงการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ของผู้ประเมินการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนารูปแบบการติดตามและการประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของชาติ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.)  ร่วมกับ สกสว. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) มีความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาก ผ่านมุมมองแนวคิด “Blue Marble Evaluation” มากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล ควินน์ แพตตัน ที่ปรึกษาและอดีตประธาน สมาคมการประเมินผลแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Evaluation Association : AEA)  และศาสตราจารย์จากศูนย์ประเมินแคลร์มอนต์ (The Claremont Evaluation Center : CEC) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บรรยายถึงแนวคิด “Blue Marble Evaluation” หรือ “แนวคิดการประเมินหินอ่อนสีน้ำเงิน” ไว้ว่า โลกทัศน์ “Blue Marble” หมายถึง วิธีมอง วิธีคิดระดับภาพรวมของโลก  คิดเป็นองค์รวม  และคิดกระบวนระบบ ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดภาพถ่ายชื่อ  “The Blue Marble” ซึ่งเป็นภาพฝถ่ายของโลก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1972 ที่ถ่ายโดยแฮร์ริสสัน ชมิตต์ (Harrison Schmitt) นักธรณีวิทยาคนแรกที่ร่วมเดินทางไปกับยานอวกาศอะพอลโล 17 (Apollo 17) ที่เดินทางไปยังดวงจันทร์  ดังนั้นเมื่อนำมาใช้กับการประเมิน จึงหมายถึงการประเมินในมิติภาพรวมของโลก ซึ่งในทางปฏิบัตินักประเมินต้องคิดระดับโลก แต่ดำเนินการระดับพื้นที่ (Think globally, act locally)  และประเมินทั้ง 2 ระดับ ระดับโลกและระดับพื้นที่ (Evaluate both globally and locally)   โดยมีเป้าหมายสำคัญไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่ผ่านมา ผู้คนต่างพบเจอปัญหาเหมือนๆกัน คือการทำงานแบบผู้กำหนดนโยบายเป็นผู้ออกแบบ และจัดทำขึ้นมา หรือแบบ Top Down ที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันทั่วโลก ซึ่งบางครั้งนโยบายดังกล่าวส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการประเมินผ่านการทำงานร่วมกัน คือ เชื่อมร้อยคนละภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน เพื่อลดอุปสรรคในการประเมิน ทั้งในแง่ของการวัด ประเมินระบบ และประมวล การคิด แม้ตอนนี้เป็นช่วงของภาวะฉุกเฉินที่ทั่วโลกและประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ก็เป็นช่วงของการเร่งคิด เร่งทำ อย่างเร่งด่วน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการประเมินอย่างงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งผู้ประเมินต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบาย  ซึ่งองค์กรต่างๆ ขณะนี้ก็พยายามทำงาน โดยใช้มุมมองแบบองค์รวม (Holistic) อย่างในสหรัฐอเมริกาตอนนี้หน่วยงานประเมินงานวิจัย ก็ต้องทำงานกับนักวิจัยอีกกระทรวงหนึ่ง เรามีการขยายกิจกรรมที่ให้ความรู้และพวกเราจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่แม้ว่าจะเป็นก้าวเล็กๆ แต่ต้องเริ่มลงมือทำเลย ดังนั้นจึงต้องสร้างความเชื่อมโยง สร้างเครือข่ายระหว่างภูมิภาค เพื่อทำให้การประเมินเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published.