วว. เจ๋งพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังผู้สูงอายุ จากพืชตระกูลเมล่อน “แตงไทย”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร  (InnoHerb)  ดำเนินงานตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย  ประสบผลสำเร็จพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุ จากพืชสมุนไพรตระกูลเมล่อน “แตงไทย” รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2570

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความสำเร็จของ วว. ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพืชสมุนไพร “แตงไทย” ซึ่งอยู่ในตระกูลเมล่อน (Cucumis melo) และเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุจากสารรงควัตถุในพืชสมุนไพรสู่ประเทศไทย 4.0” นับเป็นการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย  เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ซึ่งจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2570 ทั้งนี้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายย่อมเสื่อมถอยลง ส่งผลให้เกิดโรคเสื่อมในระบบต่างๆของร่างกาย ประกอบด้วย ระบบประสาท ระบบผิวหนัง ระบบฮอร์โมน ระบบหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบกระดูกและข้อ เป็นต้น โดยเฉพาะการเสื่อมสภาพของผิวหนังและเส้นผม ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจและการออกสู่สังคม ที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ

“…การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ได้แก่ ผิวหนังบางลง  เซลล์ผิวหนังลดลง ความยืดหยุ่นของผิวหนังไม่ดี ผิวหนังเหี่ยว และมีรอยย่น จำนวนเม็ดสีลดลง ล้วนส่งผลให้การทำหน้าที่ปกป้องรังสียูวีจากแสงแดดลดลง ก่อให้เกิดฝ้าและกระมากขึ้น เนื่องจากจำนวนเซลล์สร้างเส้นใยอิลาสติกและคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ลดลง การที่เส้นใยคอลลาเจนลดลง มีผลทำให้เซลล์ทำหน้าที่ลดลง ส่งผลให้เซลล์ที่ผิดปกติถูกทำลายได้ยากขึ้น ความชื้นที่ผิวหนังกำพร้าลดลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผิวเหี่ยวย่นและมีริ้วรอยมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุ จึงมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบันและในอนาคต สำหรับรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ทั้งนี้ วว. ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุ จากพืชสมุนไพรตระกูลเมล่อน “แตงไทย” จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ได้แก่

 1) สารสกัดหยาบเปลือกแตงไทยในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน  มีจุดเด่นคือ  พัฒนาโดยใช้ระบบนำส่งรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน มีอนุภาคขนาดไมครอน  มีสารสำคัญ ได้แก่ กรดเฟอรูลิก สกัดจากเปลือกแตงไทย ผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชรา และป้องกันความเสียหายจากรังสี UVA ในเซลล์ผิวหนัง  มีค่าการละลายน้ำและการปลดปล่อยของสารสำคัญได้เร็วกว่าสูตรผสมทางกายภาพ  ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในเซลล์ผิวหนังมนุษย์ชนิดไฟโบรบลาสต์  เซลล์มะเร็งลำไส้มนุษย์  ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ เมื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากในสัตว์ทดลอง   ใช้เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือเสริมอาหารและมีความคงตัว (stability)

2) เฟอร์รูลิกแอซิด พลัส ซีอี (Ferulic  acid  plus  CE)  มีจุดเด่นคือ  เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผงชงดื่มชนิดแรกที่พัฒนาจากสารสกัดแตงไทยในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน  มีสารสำคัญ ได้แก่ กรดเฟอรูลิก สกัดจากเปลือกแตงไทย ผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชรา และป้องกันความเสียหายจากรังสี UVA ในเซลล์ผิวหนัง  โดยระบบนำส่งโซลิดดิสเพอร์ชันสามารถเพิ่มค่าการละลาย ส่งผลให้การดูดซึมและชีวประสิทธิผลดีขึ้น  ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาลทราย ละลายได้ในของเหลว ง่ายต่อการรับประทาน  ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ เมื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากในสัตว์ทดลองและมีความคงตัว (stability)

นางศิรินันท์  ทับทิมเทศ  ผู้อำนวยการ  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร  กล่าวเพิ่มเติมว่า  พืชตระกูลเมล่อนเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ  นอกจากจะนำมาใช้ในการประกอบอาหารแล้ว  ยังสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ด้วย  ในอดีตมีการรับประทานพืชตระกูลเมล่อนเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความชราภาพ การอักเสบ และมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้ใช้สำหรับการรักษาโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารได้มีการใช้ผลทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำผลไม้ แยม สลัด ขนม ทำให้มีเปลือกและเมล็ดซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้ใช้งานเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก   นำมาสู่การศึกษาสารสำคัญในส่วนเหลือทิ้งพบว่า   มีวิตามินเอ  วิตามินซี แร่ธาตุ กากใย น้ำมัน แคโรทีนอย และโพลีฟีนอล ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยชะลอหรือยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมันและโมเลกุลอื่น ป้องกันเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ

ทั้งนี้แตงไทยเป็นหนึ่งในพืชตระกูลเมล่อน ปลูกได้ง่าย ทนทาน แข็งแรง สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีสารอาหารคล้ายกับเมล่อนทั่วไป อุดมด้วยวิตามินเอ ซี อี ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม โพแทสเซียม คาร์โบไฮเดรต จากการศึกษาพบว่าเปลือกมีสารสำคัญคือกรดเฟอรูลิก (Ferulic acid) ซึ่งอยู่ในกลุ่มโพลีฟีนอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการใช้อย่างแพร่หลายในการผสมในเครื่องสำอางเพื่อชะลอวัย ลดริ้วรอย ทำให้ผิวกระจ่างใสขึ้น แต่ยังมีการใช้ในรูปสารสกัดจากแตงไทยค่อนข้างน้อย รวมถึงกรดเฟอรูลิกมีค่าการละลายน้ำที่ต่ำ ส่งผลให้มีการดูดซึมและมีชีวประสิทธิผลที่ต่ำ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์จากสารสกัดจากเปลือกแตงไทยโดย วว. ซึ่งมีสารสำคัญคือกรดเฟอรูลิกในรูปแบบผงสำหรับชงแล้วดื่ม โดยมีการพัฒนาระบบนำส่งโดยใช้เทคนิคโซลิดดิสเพอร์ชัน (Solid dispersion) ซึ่งจะทำให้เพิ่มค่าการละลาย เพิ่มความสามารถในการดูดซึมได้ นอกจากนี้ยังมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในด้านความคงตัว และการทดสอบประสิทธิภาพของสาร

ข้อมูลทางการตลาดพบว่า ผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพืชสมุนไพร มีแนวโน้มมูลค่าการตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ จากข้อมูลในปี 2558 พบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 7% แบ่งออกเป็นมูลค่าภายในประเทศประมาณ 20,000 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท และยังมีอัตราการเติบโตในลักษณะก้าวกระโดดในปี 2559-2560 เนื่องจากคนไทยนิยมอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพรและเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อความสวยงามและเพื่อสุขภาพที่ดีมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงามและชะลอวัยจากสมุนไพรกำลังได้รับกระแสความนิยมเป็นอย่างมาก หรือที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์นิวตริคอสเมติก (Nutricosmetic supplement)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์จาก  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 , 0 2577 9104   E-mail : innoherb_service@tistr.or.th  หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/

Leave a Reply

Your email address will not be published.