เยาวชนไทย และนานาชาติร่วมเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ ในงานประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 9 ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 9 (TACs2023) เปิดเวทีนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีเยาวชนไทยและต่างประเทศร่วมนำเสนอกว่า 80 ผลงาน หวังยกระดับมาตรฐานงานวิจัยระดับโรงเรียน ส่งเสริม และผลักดันยุววิจัยสู่ระดับนานาชาติ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ประจำปี 2566 นับเป็นครั้งที่ 9 ของการจัดการประชุมดังกล่าว เป็นเวทีที่เปิดโอกาสเยาวชนไทยและต่างประเทศเข้าร่วมนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน มีเยาวชนจากทุกภูมิภาคของไทย และต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ร่วมนำเสนอผลงานรวมทั้งสิ้น 79 โครงงาน คัดเลือกจากทั้งหมดที่ส่งเข้าร่วมกว่า 150 ผลงาน แบ่งเป็นการนำเสนอผลงานรูปแบบบรรยาย 36 โครงงาน และแบบโปสเตอร์ 43 โครงงาน ภายใต้หัวข้อหลัก 6 ประเภท ได้แก่ 1) ดวงอาทิตย์ 2) ระบบสุริยะและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 3) ดาวฤกษ์ และกระจุกดาว 4) สสารระหว่างดาว กาแล็กซี และเอกภพ 5) ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ 6) อุปกรณ์-โปรแกรมทางดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ และ 7) โบราณดาราศาสตร์ อ่านข้อมูลโครงงานทั้งหมดได้ที่ https://bit.ly/NARIT-TACs2023-Book

ผลงานที่นำเสนอส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยของครูและนักเรียนในโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง ภายในงานมีนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ร่วมรับฟังพร้อมให้คำแนะนำ เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดงานวิจัย อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ ให้เกิดยุววิจัยรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับเยาวชน ซึ่งจะก้าวสู่เครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต

สำหรับไฮไลต์ของงานนี้ คือการมอบเหรียญรางวัลให้กับสุดยอดโครงงานดาราศาสตร์ แบ่งเป็นประเภท เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง คัดเลือกจากคณะกรรมการโดยมีเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ ความสามารถในการนำเสนอผลงาน ความเข้าใจในเนื้อหาของผู้บรรยาย ความพยายาม ความถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และความแปลกใหม่ของตัวงาน ซึ่งในปี 2566 นี้มีโครงงานที่ได้รางวัลเหรียญทอง จำนวน 9 โครงงาน เหรียญเงิน จำนวน 10 โครงงาน และเหรียญทองแดง จำนวน 8 โครงงาน

ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาในปีนี้ กล่าวว่า การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าสาขาใดก็ตาม จะช่วยให้นักเรียนได้นำความรู้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้เพื่อตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล วางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ รวมถึงวางแผนรับมือกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในห้องเรียนปรกติ การเปิดเวทีนำเสนอผลงานโครงงานดาราศาสตร์จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้นักเรียนผู้ทำโครงงานได้รับการยอมรับในความรู้ ความสามารถ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน และครูจากโรงเรียนอื่นที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกฝนการนำเสนอ และพัฒนาผลงานจากคำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อนำไปปรับปรุง และต่อยอดความรู้จากการทำงานวิจัยต่อไป

นอกจากยุววิจัย ครุวิจัยที่มาร่วมนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ สดร. ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานและกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ สดร. ได้นำผู้ร่วมงานเดินทางไปยังอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ เยี่ยมชมนิทรรศการดาราศาสตร์แบบ Interactive และ รับฟังการบรรยายการดูดาว รวมถึงชมภาพยนตร์ดาราศาสตร์ในท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ขนาด 160 ที่นั่ง ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของไทย นอกจากนี้ ยังจัดให้มีบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สุริยุปราคา…ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สุดอัศจรรย์” โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ด้วย

การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง เปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำเสอผลงานการวิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้ทางดาราศาสตร์ รับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และต่อยอดงานวิจัยสู่ระดับสากล สำหรับผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมในครั้งถัดไปสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.narit.or.th

ดาวน์โหลดภาพบรรยากาศเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/NARIT-Tacs2023-Gallery


Leave a Reply

Your email address will not be published.