ทีมเยาวชนไทยคว้ารางวัล Project Of the Year ในการประกวดโครงงานวิทย์ฯ อาเซียน ASPC 2023
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 / ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมแสดงความยินดีพร้อมเป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ทีมเยาวชนอาเซียนในเวที “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 9” (The 9th ASEAN Student Science Project Competition, ASPC 2023) โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSM) พร้อมด้วย ดร.กรรณิการ์ เฉิน ผู้แทนนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะผู้บริหาร NSM ให้การต้อนรับและร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุมแสงเดือน-แสงเทียน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น คว้าสุดยอดรางวัล Project Of the Year 2023 ไปครองในโครงงานเรื่อง “การศึกษาการเลียนแบบพฤติกรรมการสื่อสารด้วยการกระพริบแสงในหิ่งห้อยสายพันธุ์ Abscondita terminalis (Olivier, 1833) เพื่อการเพิ่มประชากรหิ่งห้อยในพื้นที่อนุรักษ์ (ม.ขอนแก่น)”
ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับเยาวชนอาเซียนทุกคน โดยปีนี้มีประเทศอาเซียนเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 27 โครงงาน จาก 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และราชอาณาจักรกัมพูชา นอกจากนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณหน่วยงานอย่าง NSM และ สมาคมวิทย์ฯ ที่ช่วยผลักดันให้เกิดกิจกรรมการประกวดฯ ระดับอาเซียนในครั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้เข้าร่วมหารือในการประชุมอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศกลุ่มอาเซียนหลัก ๆ คือ การพัฒนาโลกให้มีความยั่งยืนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ เปรียบเสมือนเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยการสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ผ่านการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมร่วมกันสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศของตนและอาเซียน หวังว่าทุกผลงานจะสามารถนำไปพัฒนาประยุกต์ใช้และต่อยอด เพื่อสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับโลกต่อไปในอนาคต”
รางวัลสุดยอดในปีนี้ Project Of the Year 2023 ได้แก่ โครงงาน Imitation Flash Communication Pattern Behaviour in Firefly, Abscondita terminalis (Olivier, 1833), for Increasing Firefly Population in Conservation Areas (การศึกษาการเลียนแบบพฤติกรรมการสื่อสารด้วยการกระพริบแสงในหิ่งห้อยสายพันธุ์ Abscondita terminalis (Olivier, 1833) เพื่อการเพิ่มประชากรหิ่งห้อยในพื้นที่อนุรักษ์ ม.ขอนแก่น)) จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น โดยมีสมาชิก ในทีมได้แก่ นางสาวอาภรพัฒน์ ธารเลิศ นายบวรชัย สุขชัยบวร และดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ เป็นคุณครูที่ปรึกษา ทั้งนี้ โครงงานฯ ยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพมาครองอีกหนึ่งรางวัล
นางสาวอาภรพัฒน์ ธารเลิศ หนึ่งในทีมเยาวชนผู้คว้ารางวัล Project Of the Year 2023 และรางวัลชนะเลิศ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เผยถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาโครงงานฯ “โปรเจกต์นี้เราเริ่มต้นจาก ชั้นเรียนในการเลี้ยงหิ่งห้อยเพื่อเพิ่มจำนวน แต่วิธีการของเรายังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน เพราะหิ่งห้อย ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ เราจึงนำปัญหาตรงนี้มาศึกษาและพัฒนาต่อในการศึกษาพฤติกรรม การผสมพันธุ์และการกระพริบแสงเพื่อสื่อสารในหิ่งห้อย โดยนำไปสร้างโค้ดสำหรับแบบจำลองการกระพริบแสงของหิ้งห้อยในการเพิ่มโอกาสการผสมพันธุ์และเพิ่มประชากรหิ่งห้อย เพราะแสงเป็นการสื่อสารระหว่างกัน ของหิ่งห้อย ซึ่งถือเป็นการล่อหิ่งห้อยให้มาเจอกันและได้ผสมพันธุ์กันมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มจำนวนเหล่านี้นำมาสู่ การบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ใน ม.ขอนแก่น ที่เราได้ทำการศึกษาวิจัยในครั้งนี้อีกด้วย”
ด้านนายบวรชัย สุขชัยบวร ผู้ร่วมทีม เผยความรู้สึกครั้งนี้ว่า “ดีใจมาก ๆ กับความสำเร็จในวันนี้ ซึ่งความพยายาม ความทุ่มเท และความอดทนตลอดระยะเวลาในการพัฒนาโครงงานนี้ไม่ได้สูญเปล่า เพราะยังมีเวทีที่เห็นความสามารถและความตั้งใจของเรา ต้องขอขอบคุณเวที ASPC 2023 ที่ทำให้ทีมเราได้รับประสบการณ์ที่มีค่า ในการทำงานเป็นร่วมกันเป็นทีม และยังได้พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารกับเพื่อน ๆ ในประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งได้รู้จักเพื่อนใหม่และได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อน ๆ ในอาเซียนเพิ่มมากขึ้นด้วย”
ผลรางวัล “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 9” (The 9th ASEAN Student Science Project Competition, ASPC 2023) ประเภทต่าง ๆ มีดังนี้
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
•รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ โครงงาน : Design and Fabrication of an Inexpensive Curcumin-Based Paper Sensor for Sodium Hypochlorite Sensing (การออกแบบและการผลิตกระดาษตรวจวัดราคาประหยัดที่ทำจากขมิ้นเพื่อใช้ตรวจหาโซเดียมไฮโปคลอไรต์) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.Liah Mei I. Caduyac 2.Ethan Jeushrey R. Montuya
•รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ประเทศไทย โครงงาน : The Development of Bio-Blood Bags Supplements The Efficiency With Natural Rubber, Silk Worm Pupae, and Silk Extracts Blends. (การพัฒนาถุงบรรจุโลหิตด้วยวัสดุชีวภาพ เสริมประสิทธิภาพด้วยยางธรรมชาติ ดักแด้หนอนไหม และสารสกัดจากไหม) จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.นางสาวชยามาส พรพัฒน์กุล 2.นายสีหบดินทร์ ยธิกุล 3.นางสาวพิชชาภา คุณาทร และครูจันทร์จิรา ชัยอินทรีอาจ คุณครูที่ปรึกษา
•รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ประเทศไทย โครงงาน : Absorbent gauze from lotus fiber that can absorb secretions, does not stick to the wound, and can inhibit Staphylococcus aureus that decrease wound infection. (ผ้าปิดแผลจากเส้นใยบัว ที่สามารถดูดซึมสารคัดหลั่งไม่ติดแผล และสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Straphiloconcu aureus ที่เป็นสาเหตุในการอักเสบของแผล) จากโรงเรียนปากเกร็ด จ.นนทบุรี สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.นางสาวปรัชญาพร นามใหม่ 2.นาวสาวพิชญ์สินี ไตรทิพธำรงโชค 3.นางสาวชญาภา พยอมหอม และนางสาวพัชราภรณ์ บุณยทรรศนีย์ คุณครูที่ปรึกษา
•รางวัลชมเชย ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย โครงงาน : SUV-C: OK Clothes Sterilizer (Operation Kamer) Using UVC Rays to Prevent Spread Microorganisms in the Hospital Environment (เครื่องมือสำหรับฆ่าเชื้อชุดผ่าตัดโดยใช้รังสี UVC เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจุลชีพในโรงพยาบาล) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.Azra Az Zahra Rizaldy 2.Andhika Noto Negoro
•รางวัลพิเศษ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา โครงงาน : Greenhouse (เรือนกระจก) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.Tan Sivmei 2.Sam ang ong Choranay
สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
•รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ประเทศไทย โครงงาน : โครงงาน Imitation Flash Communication Pattern Behaviour in Firefly, Abscondita terminalis (Olivier,1833), for Increasing Firefly Population in Conservation Areas (การศึกษาการเลียนแบบพฤติกรรมการสื่อสารด้วยการกระพริบแสงในหิ่งห้อยสายพันธุ์ Abscondita terminalis (Olivier,1833) สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวอาภรพัฒน์ ธารเลิศ นายบวรชัย สุขชัยบวร และดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ คุณครูที่ปรึกษา
•รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ โครงงาน : Ecological Footprint of Smallholder Versus Industrial Oil Palm Plantations (ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของการปลูกปาล์มรายย่อยและอุตสาหกรรม) สมาชิกในทีม ได้แก่ Wong Chin Wen, Rachel
•รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย โครงงาน : Utilization of Langsat Seed (Lansium parasiticum) Extracts as Folk Anthelmintic (การใช้สารสกัดจากเมล็ดลางสาด (Lansium parasiticum) เพื่อใช้เป็นยาถ่ายแผนโบราณ) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.Gerald Grady 2. Michelle Sheren Virginia
•รางวัลชมเชย ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย โครงงาน : Fat-Free APC (Apple Peel Cholesterol) Gummies: Investigating Apple Peel (Malus sp.) Waste Extract Ability to Suppress Lipids via UV-Vis Spectrophotometer (การสำรวจความสามารถของสารสกัดจากเปลือกแอปเปิล (Malus sp.) ในการลดการดูดซึมไขมัน) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1. Nathasya Alyssa Mechtilda Schoenmakers 2. Maikel Harold Johan Schoenmakers
•รางวัลชมเชย ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย โครงงาน : LIMOUSINE: Development of an Immunoassay for Rapid Antibiotic Residue Tests in Chicken and Milk (การพัฒนาวิธีการทดสอบรวดเร็วด้วยแอนติบอดีเพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่และนม) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1. Rajief Miftah Rizky Rumadan 2. Faldi Atharasda
สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
•รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ประเทศไทย โครงงาน : Innovation of Apparatus for Quantitative Detection of Calcium from Free Edge of Nails by Colorimetric Method and Light Absorption for Assessment of Calcium Balance and Bone Disease Risk (นวัตกรรมเครื่องมือวัดปริมาณแคลเซียมจากปลายเล็บโดยวิธีแคลอริเมตริกและการดูดกลืนแสงเพื่อใช้ในการประเมินปริมาณแคลเซียมและความเสี่ยงต่อโรคกระดูก) จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.นายภัทรพล ใจเย็น 2.นายธีรัตม์ สันติลินนท์ 3.นายณภัทร ด่านชนะ โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธุ์ และครูวีรวุฒิ เทียนขาว เป็นคุณครูที่ปรึกษา
•รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ โครงงาน : Reflectarray Design based on a Rectangular Phoenix Cell (การออกแบบเครื่องสะท้อนแบบเรียงแถวโดยใช้เซลล์ฟีนิกซ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า) สมาชิกในทีม ได้แก่ Mr.Keenan Tan Han-Ming
•รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ โครงงาน : Low Cost Colorimetric Device for Rapid Predetection of Urinary Tract Infection (UTI) (เครื่องมือแคลอริเมตริกสำหรับการการตรวจหาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะอย่างรวดเร็ว) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.Ms. Marybel Zyres Avila Montejo 2.Mr. Henry III Torres Yap
•รางวัลชมเชย ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โครงงาน : Smart Farming System with Renewable Energy and IoT Technology for Rural Area in Myanmar (ระบบเกษตรชาญฉลาดที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งสำหรับเขตชนบทในประเทศเมียนมา) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.Ms. Hsu Ei Mya San 2.Ms. Phoo Pyae Thu
•รางวัลชมเชย ได้แก่ ประเทศไทย โครงงาน : Processing of Sago Beetles for Healthy Protein Products (การแปรรูปด้วงสาคูเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนเพื่อสุขภาพ) จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.นางสาวนาราภัทร พิทักษ์ 2.นางสาวกนกวรรณ บรรเลงกลอง และนางณัฐภัสสร เหล่าเนตร์ คุณครูที่ปรึกษา
•รางวัลพิเศษ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โครงงาน : Clap Switch (สวิตช์ที่ทำงานด้วยเสียงตบมือ) สมาชิกในทีม ได้แก่ 1.Keomangkone Khantivong 2.Chidala Xayasouk