สกสว. รับลูกสภานโยบายฯ พร้อมเดินหน้าแผน ววน. 66-70 พาประเทศก้าวผ่านวิกฤต
จากการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์หลักครั้งสำคัญของประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยประกอบด้วย 6 จุดมุ่งเน้นของนโยบาย คือ (1) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง โดยใช้การพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เน้นความสามารถในการผลิตวัคซีน (2) ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นคุณค่าและความยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ (3) ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
(4) ผู้สูงอายุมีศักยภาพและโอกาสอย่างเต็มที่ในการพึ่งตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย (5) ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ล้ำยุคสู่อนาคต สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการบริการที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจใหม่ และ (6) ประเทศไทยสามารถสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียน โดยการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และสอดรับกับปรัชญาการอุดมศึกษาไทย ซึ่งหลังจากที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พร้อมกันนี้ ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ก็มีการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566 – 2570 สอดรับกับ กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า สกสว. มีภารกิจสำคัญในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) ของประเทศ มีทิศทางสอดคล้องตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ซึ่งปัจจุบัน สกสว. กำลังจัดทำแผนด้าน ววน. พ.ศ.2566-2570 ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับแผนงานกลยุทธ์ในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงประชาคมวิจัย และภาคประชาสังคม โดยแผนด้าน ววน. ฉบับนี้ เป็นแผนปฏิบัติการที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายมิติ อย่างเช่น แผนระดับชาติ (National Need) สถานการณ์ ววน. ทั้งในและต่างประเทศ ความต้องการรายสาขา (Sectoral Need) รวมถึงความต้องการของสังคมและพื้นที่ (Area Need) ตลอดจนการวิจัยเชิงระบบในสาขาที่สำคัญ จากนั้นผ่านการวิเคราะห์โดยใช้กลไกเครื่องมือต่าง ๆ ทำให้แผนด้าน ววน. ฉบับนี้ เกิดจากการบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
หลังจากที่แผนด้าน ววน. ฉบับใหม่ ได้รับการอนุมัติจากสภานโยบาย อววน. และ คณะรัฐมนตรี แล้ว สกสว. มีหน้าที่ขับเคลื่อนแผนฯ ผ่านกลไกสำคัญ คือ การจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ให้กับหน่วยงานการวิจัยทั้งในและนอกกระทรวง อว. โดยจะมุ่งเน้นสนับสนุนการทำงานของเอกชนและประชาสังคมด้านการวิจัยให้มากขึ้น ขยายกรอบการทำงานตามพันธกิจไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับกองทุนต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มทรัพยากรเพื่อการผลักดันการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์ ผลกระทบที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลา 5 ปี และทำให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ สกสว. ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ว่าวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะเป็นทางออกสำคัญในการพาประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤต