กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยันเป้ารายได้รวมท่องเที่ยวปี 64 ททท.กางแผนครึ่งปีหลังหวังดันยอดแตะ 8.5 แสนล้านบาท


“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ยันคงเป้ารายได้ท่องเที่ยวปี 2564 ที่ 8.5 แสนล้านบาทฝ่ามรสุมโควิด-19 ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทย 3-4 ล้านคน สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาท ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยตั้งเป้าที่ 90-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5.แสนล้านบาท ด้าน “ททท.” กาง 5 แผนส่งเสริมตลาดครึ่งปีหลัง มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ เตรียมกระตุ้นตลาดเที่ยวในประเทศเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมเดินหน้าทยอยเปิดประเทศ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ควบคู่กับการวางรากฐานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังคงเป้าหมายการทำรายได้รวมจากภาคการท่องเที่ยวไทยปี 2564 ที่ 8.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 4% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งปิดรายได้รวมที่ 8.14 แสนล้านบาท ด้วยการรุกทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทย 3-4 ล้านคน สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาท ส่วนตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศตั้งเป้าที่ 90-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5.5 แสนล้านบาท

ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริมว่า แม้ขณะนี้ภาพรวมยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศจะสูงมากกว่าระดับ 1.5 หมื่นคนต่อวัน และรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ ททท.มองว่าต้องคิดบวกไว้ก่อน (Stay Positive) พร้อมพุ่งไปยังเป้าหมาย (Stay Focus) สิ่งใดที่พอจะทำได้ในช่วงโรคโควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก ก็ต้องเดินหน้า อีกสิ่งสำคัญคือต้องไม่ยอมแพ้ง่ายๆ (Never Give Up) ทั้งหมดนี้คือหลักคิดการทำงานของ ททท.ในช่วงนี้ โดยคาดว่ากระแสการเดินทางท่องเที่ยวน่าจะตีตื้นขึ้นมาได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะมุ่งทำ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพราะยิ่งพบการระบาดระลอก 4 ของโรคโควิด-19 ในประเทศเข้าไป สถานการณ์ของผู้ประกอบการยิ่งลำบาก ททท.จึงพยายามประสานขอมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในการเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการยกระดับบริการท่องเที่ยว เช่น โครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย “Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับกระทรวงการท่องเที่ยวฯโดย ททท. และการนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาฉีดให้คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการในภาวะวิกฤติหลังต้องเผชิญการระบาดหลายระลอก
2.การเตรียมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายดีขึ้น คนกลับมาเดินทางอีกครั้ง โดย ททท.มี 2 โครงการกระตุ้นตลาดที่รอรัฐบาลอนุญาตให้ดำเนินการได้ ได้แก่ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ซึ่งอาจจะขยายระยะเวลาดำเนินโครงการไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 และนำร่องให้เดินทางไปยังจังหวัดที่อนุญาตให้มีการท่องเที่ยวได้ รวมถึงโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวอื่นๆ ของ ททท.ตามปีงบประมาณ 2564
3.การทยอยเปิดประเทศในพื้นที่ที่มีความพร้อมบนพื้นฐานของความปลอดภัย โดยได้เริ่มต้นนำร่องไปแล้วผ่านโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเดินทางเชื่อมโยงจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ด้วยสูตร 7+7 โดยต้องพำนักในภูเก็ตครบ 7 คืนแรกก่อน ถึงจะสามารถท่องเที่ยวและพำนักในพื้นที่นำร่องอื่นตามกำหนดเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 7 คืน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เลย์) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) เริ่มวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวพำนักในพื้นที่นำร่องดังกล่าวเป็นเวลารวมอย่างน้อย 14 คืนแล้ว จึงจะสามารถไปท่องเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้ ขณะเดียวกัน ททท.ยังผลักดันการเปิดพื้นที่นำร่องทางบกอื่นๆ ด้วย
4.การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศ ภายใต้สโลแกน “อะเมซิ่งไทยแลนด์ อะเมซิ่งยิ่งกว่าเดิม” และ 5.การวางรากฐานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในอนาคต แม้ปัจจุบันยังเผชิญสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน แก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา (Pain Point) ในอดีต และปรับโครงสร้างทางการตลาดของภาคท่องเที่ยวไทยให้มีความสมดุลมากขึ้น อยู่บนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG Economy” (Bio-Circular-Green Economy) หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

Leave a Reply

Your email address will not be published.