SMC เผยความสำเร็จในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ 4.0 พร้อมเผยผลการสำรวจระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยปี 2566 ในกิจกรรมเปิดบ้าน SMC Open house 2023

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่ EECi จังหวัดระยอง: ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และ- อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ พันธมิตรภาคอุตสาหกรรม จัดกิจกรรม เปิดบ้านศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน: SMC OPEN HOUSE 2023 ภายใต้แนวคิด “การผลิตแบบยั่งยืน เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว” ครั้งแรกของการรายงานผลสำรวจ ระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย ปี 2566 พร้อมอัปเดตผลงาน ความก้าวหน้าการดำเนินงาน และบริการที่ผ่านมา รวมทั้ง แผนงาน/กิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ของ SMC ซึ่งภายในงานมี การบรรยายพิเศษจากตัวอย่างความสำเร็จในปรับตัวสู่ Industry 4.0 จากภาคเอกชน

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมและพัฒนาให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน

ในปีนี้ การเปิดบ้านศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน: SMC Open House 2023 ได้จัดงาน “ภายใต้แนวคิด “การผลิตแบบยั่งยืน เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว” ในรูปแบบ Low-Carbon Emission Event ที่มุ่งลดปริมาณ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากระดับปัจจุบัน นับเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่เป็นการผนึกกำลังของหน่วยงานรัฐ ร่วมกับพันธมิตรอุตสาหกรรมเพื่อสร้างแนวทางและตัวอย่างในการจัดงานที่ยั่งยืน

การดำเนินงานในปี 2566 ของ SMC มีจำนวนโรงงาน ผู้ประกอบการ ที่ได้รับถ่ายทอดเพื่อยกระดับ อุตสาหกรรมให้ใช้เทคโนโลยี ARI (Automation Robotic and Intelligent System) นำไปใช้สะสมจำนวน 178 หน่วยงาน โดยผ่านบริการด้านต่างๆ ของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน เช่น การที่ได้รับบริการประเมินความ พร้อมโรงงานด้วย Thailand i4 index การให้คำปรึกษา เพื่อขอรับการสนับสนุนด้าน สิทธิประโยชน์ BOI และบริการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคของ SMC จำนวนทั้งสิ้น 153 ราย การให้บริการฝึกอบรมถ่ายทอด เทคโนโลยีเพื่อยกระดับความพร้อมฯ ของ SMC จำนวนรวม 1,479 คน อีกทั้งสร้างผลกระทบทางสังคมและ การหมุนทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า เกิด Impact 5,262.24 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม มากกว่า 120 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานใน ปี 2567 SMC มุ่งเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยืดหยุ่น มุ่งสู่ Industry 5.0 ผ่านกลไก 3-4-5 อันได้แก่

3 มิติของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน  มุ่งเป้าความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม

4 หัวข้อหลักในการวิจัยพัฒนาและให้บริการ  ประกอบด้วย 1) การวัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand i4.0 Index ซึ่งปีนี้จะเพิ่มเครื่องมือให้โรงงานประเมินตนเองเบื้องต้นได้   2) การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในโรงงาน SMC จะเปิดบริการเครื่องมือช่วยพัฒนา Edge IoT และ Machine Learning โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม รวมถึงเริ่มนำ ChatGPT สัญชาติไทยมาให้บริการร่วมกับหุ่นยนต์บริการ   3) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก SMC พร้อมให้บริการศูนย์ทดสอบมอเตอร์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศที่สามารถทดสอบมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดสูงสุด 380 kW ได้ตามมาตรฐานนานาชาติ เช่น ISO-21782 และ UNECE-R85 และร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับใช้เป็นระบบคำนวณและทวนสอบ เพื่อให้สามารถรองรับภายใต้ข้อกำหนดของมาตรการการปรับภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และ 4) การพัฒนายกระดับศักยภาพของบุคลากรในภาคการผลิต ผ่านโครงการ SMC Academy และ EEC Model Type B

5 สิทธิประโยชน์สุดพิเศษ ที่เตรียมให้กับสมาชิก SMC ในปี 2567 ประกอบด้วย 1) รับการประเมิน Thailand i4.0 Index ฟรีโดยผู้เชี่ยวชาญของ SMC 2) การใช้งานเครือข่าย 5G Private Network, AIS Paragon Platform และ AIS 5G Manufacturing Platform สนับสนุนโดย AIS 3) เครื่องมือสร้างอุปกรณ์ AIoT Edge Computing พร้อมที่ปรึกษาการพัฒนาและติดตั้ง สนับสนุนโดย Smart Sense 4) เครื่องมือ IoT ตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานเชิงลึก สนับสนุนโดย INET และ 5) การประเมินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นของโรงงาน สนับสนุนโดย บีไอจี

ดร. รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 เผยผลการสำรวจ ระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยประจำปี 2566 ด้วยดัชนี้ชี้วัด Thailand i4.0 Index โดยสำรวจบริษัทในภาคการผลิตจำนวน 150 บริษัท พบว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของประเทศอยู่ในระดับ 2.8 (เต็ม 6) โดยการสำรวจเน้นใน 3 อุตสาหกรรมหลักของประเทศคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน (53 ราย ค่าเฉลี่ย 2.71) อาหารและเครื่องดื่ม (39 ราย ค่าเฉลี่ย 2.77) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (21 ราย ค่าเฉลี่ย 2.83) และ ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมอื่นๆ ในมิติของขนาดกิจการ ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีค่าเฉลี่ยระดับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.38 ผู้ประกอบการขนาดกลางมีค่าเฉลี่ยระดับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.45 ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีค่าเฉลี่ยระดับ อุตสาหกรรมอยู่ที่ 3.07 การตรวจวัดระดับนี้นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบสถานะปัจจุบันของตนแล้ว ยังทำให้ทราบว่า ตนอยู่ห่างจากค่าเฉลี่ยหรือผู้นำในอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่เพียงใด อีกทั้งยังช่วยแนะนำจุด ที่ควรเริ่มต้นปรับปรุง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)

ออกมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้ผลการประเมิน Thailand i4.0 Index เป็นเกณฑ์การพิจารณา ผู้ประกอบการสามารถนำเงินลงทุน 100% ไปหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี

ดร. รวีภัทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับบันได 4 ขั้น ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ขั้นแรกคือ การประเมินความพร้อมด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ที่ www.nstda.or.th/i4platform/checkup เพื่อให้ทราบว่าเบื้องต้นอุตสาหกรรมของตนอยู่ในระดับใด ขั้นที่สอง คือการประเมินความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมรับคำแนะนำในการยกระดับโรงงาน โดยผู้ประกอบการและพนักงานอาจเข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะด้านอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย ขั้นที่สาม คือการรับคำแนะนำในการยกระดับอุตสาหกรรมทั้งด้านเทคโนโลยี เงินทุน และสิทธิประโยชน์ และอาจนำแผนงานมาทดสอบจำลองสถานการณ์ (Simulation) ด้วย Testbed อาทิ เครื่องจักร สายการผลิต และระบบดิจิทัลที่มีให้บริการ ก่อนลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และกระบวนการผลิตภายในโรงงานจริง เพื่อลดการสูญเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย  และขั้นสุดท้ายคือการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม นำไปสู่การเพิ่มความยืดหยุ่นในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน ลดข้อเสีย และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ ได้เปิดระบบให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าทำการประเมิน Thailand i4.0 Index ได้ด้วยตนเองได้แล้ววันนี้ ผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/i4platform และเข้าไปยัง i4.0 Checkup ซึ่งเป็นระบบ Online Self-Assessment โดยผู้ประกอบการสามารถป้อนข้อมูลและรับผลการประเมิน ได้ทันที ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการรับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก สามารถสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์ SMC เพื่อรับการประเมินได้ฟรี

ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน

ศููนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) อยู่ภายใต้การดูแล ของศูนย์เทคโนโลยี- อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ภายในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้และการทดลองปฏิบัติจริง รวมไปถึงกิจกรรมวิจัย เพื่อการสร้างนวัตกรรม SMC ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการ พัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เพื่อมุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) และส่งแรงขับเคลื่อนถึงการ เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0) ตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563

ช่องทางการติดต่อ                                                       

Leave a Reply

Your email address will not be published.