อว. โดย เอ็มเทค สวทช. หนุนอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ปลดล็อก CBAM ช่วยไทยคงมูลค่าส่งออก EU กว่า 4 พันล้านบาท
อว. โดย เอ็มเทค สวทช. หนุนอุตสาหกรรมไทย ให้บริการฐานข้อมูลค่ากลางคาร์บอนแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค ช่วยปลดล็อกมาตรการคาร์บอนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ให้กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการไทย ที่กำลังเผชิญกับมาตรการ CBAM ในระยะเปลี่ยนผ่าน (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 – สิ้นปี 2568) ก่อนสหภาพยุโรปบังคับใช้เต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 2569
(วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567) ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวง อว.ชั้น 1 ถนนพระรามที่ 6 : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อมวลชน ในกิจกรรม NSTDA Meets the Press เรื่อง: มาตรการ CBAM ใครพร้อม ได้ไปต่อ ชวนปลดล็อก การปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนสหภาพยุโรป หรือ EU
มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรปครั้งแรกที่จะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง โดยผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ซีเมนต์ 2.ไฟฟ้า 3.ปุ๋ย 4.เหล็กและเหล็กกล้า 5.ไฮโดรเจน และ 6.อะลูมิเนียม ไปยังสหภาพยุโรปจะต้องรายงานปริมาณการนำเข้ารวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า ซึ่งปัจจุบันมาตรการดังกล่าวอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยในวันที่ 1 มกราคม 2569 จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่มจะต้องซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอลูมิเนียม กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรก 1 ใน 6 อุตสาหกรรม ที่สามารถดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM ได้สำเร็จ โดยได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในการจัดทำค่ากลางของผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมตามกรอบ CBAM ซึ่งค่ากลางดังกล่าวครอบคลุมผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อบิลเล็ต, กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมหน้าตัด และกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมแผ่นม้วนภายในประเทศ เพื่อให้ได้ทราบถึงรายการสารขาเข้า และสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิตย่อยของบริษัทตนเอง หรือกระบวนการผลิตรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม
ที่สำคัญคือทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกรอบ CBAM สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในระดับประเทศ ซึ่งค่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวสามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทางยุโรป และสามารถนำไปต่อยอดและวิเคราะห์ เพื่อหาจุดที่ต้องปรับปรุงในแต่ละกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตได้อีกด้วย
“มาตรการ CBAM กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เรามองว่าเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าเริ่มทำก็จะรู้ว่าเราต้องปรับอะไร และเราไม่ได้มองเฉพาะกลุ่มอลูมิเนียมเองเท่านั้น แต่มองไปถึง Supply Chain อื่น ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลายทาง เช่น รถยนต์ ที่ใช้อลูมิเนียมเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ ซึ่งหากต้นน้ำสามารถผ่านมาตรการ CBAM ได้ดี ก็จะช่วยทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งส่วนประกอบจากอลูมิเนียม ตัวอย่างเช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า (EV) ที่โตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าต้องการส่วนประกอบจากอลูมิเนียมมากขึ้น ซึ่งจากเดิมรถยนต์อีวี ใช้อลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ 70 กิโลกรัมต่อคัน จะเพิ่มขึ้นการใช้เป็น 200-300 กิโลกรัมต่อคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าต่อคัน เป็นต้น”
@อุตฯ อะลูมิเนียมพร้อมรับ CBAM คงมูลค่าส่งออก 4 พันล้านบาท-ลุ้นเพิ่มอัตราส่งออกจากคู่แข่งที่ไม่พร้อม
นายธีรพันธุ์ กล่าวต่อว่า การที่กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมปรับตัวได้เร็วก่อน เป็นข้อได้เปรียบ เพราะทางทีมวิจัยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช. ไม่เพียงสนับสนุนเรื่องข้อมูลเท่านั้น ซึ่งขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมองไปถึงการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลายอุตสาหกรรมยังกังวลและมอง CBAM เป็นอุปสรรค กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมกลับมองเป็นโอกาส เพราะในกรณีที่ประเทศไทยจะส่งออกไปที่สหภาพยุโรปเหมือนประเทศคู่แข่งอื่น ๆ หากประเทศไทยสามารถผ่านมาตรการ CBAM กับผู้ส่งออกในยุโรปได้สำเร็จ จะได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อาจจะสู้ต้นทุนการลดค่าคาร์บอนตามข้อบังคับของ CBAM ไม่ไหว และอาจจะล้มเลิกการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกับไทยก็เป็นได้ ซึ่งโอกาสจะกลับมาเป็นของไทยที่จะสามารถขยายอัตราการส่งออกสินค้าอลูมิเนียมได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
“ปี 2566 ไทยมีปริมาณการส่งออกอะลูมิเนียม อยู่ที่ประมาณ 20,000 ตัน มีตลาดส่งออกไปที่ยุโรปประมาณ 4-5 % หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท หากไทยยังปรับตัวไม่ได้กับมาตรการ CBAM นั่นหมายความว่าการส่งออก 5 % หรือมูลค่า 4,000 ล้านบาทจะหายไปในทันที ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เข้าสู่สถานการณ์ที่ CBAM เริ่มขยายการบังคับใช้ให้ครบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม”
@ แนะ 6 อุตสาหกรรมไทยเข้าข่ายมาตรการ CBAM ปรับตัวด่วน
ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม กล่าวย้ำว่า ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมควรต้องเร่งศึกษามาตรฐานของกลุ่มอุตสาหกรรมของตนเองโดยด่วนตั้งแต่บัดนี้ และต้องเร่งมือหาองค์ความรู้เพื่อรับมือกับมาตรการ CBAM อย่างต่อเนื่องและพร้อมปรับตัวตลอดเวลา เพราะแม้กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมเตรียมตัวมาล่วงหน้าแล้ว ก็เกือบจะตกขบวนการปรับตัวให้เข้ากับมาตรการดังกล่าว โดยในช่วงปี 2567-2568 จะเป็นช่วงที่ CBAM ยังไม่เก็บเงินก็จริง แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต้องเตรียมประเมินผลไว้ ซึ่งทางสหภาพยุโรปเคร่งครัดในเรื่องการกรอกข้อมูลให้พร้อมและถูกต้อง และควรมีข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้จากที่ดำเนินการร่วมกับ เอ็มเทค สวทช. มาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าประเทศไทยตอนนี้ ไม่มีหน่วยงานใดที่มีข้อมูลความพร้อมเท่ากับ เอ็มเทค สวทช. ที่ทำฐานข้อมูลพื้นฐาน (Background data) นี้ไว้รองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
“ในฐานะผู้ประกอบการที่จะต้องเร่งปรับตัวตอนนี้แบบเร่งด่วน คือ ควรเข้ามาปรึกษาเอ็มเทค สวทช. ซึ่ง หากรัฐบาลสนับสนุน เอ็มเทค สวทช. ให้มีทั้งบุคลากรเพิ่มเติมและงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จะช่วยให้ทีมวิชาการทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาสนับสนุนการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศและช่วยรองรับอุตสาหกรรมจำนวนมากได้ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการส่งออกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเชื่อว่าจากนี้ไปภายในระยะเวลา 2 ปี จะมีหลายอุตสาหกรรมเร่งมือปรับตัวก่อนที่จะถูกเก็บเงินตามมาตรการ CBAM ที่จะทยอยประกาศมาตรการบังคับใช้กับอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน (Oil refineries) อุตสาหกรรมการผลิตแก้ว (Glass) และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ (Acids and bulk organic chemicals) โดยในอนาคตเป็นไปได้ที่ต้องเผชิญมาตรการ CBAM อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
@เอ็มเทค สวทช. หนุนอุตสาหกรรม ให้บริการแหล่งข้อมูลค่ากลางคาร์บอนแห่งเดียวในประเทศไทย
ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย เอ็มเทค สวทช. ได้จัดทำโครงการ “ศูนย์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประเทศไทยจึงเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ได้จัดทำข้อมูลค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวคิด CBAM ซึ่งเป็นค่ากลางของประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้ากับสหภาพยุโรป โดยกลุ่มอะลูมิเนียม เป็นกลุ่มแรกที่สามารถทำข้อมูลออกมาได้ทันช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการ CBAM ทั้งนี้ผลจากการประเมินจะช่วยให้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีค่า CBAM กลางของประเทศ เพื่อใช้ต่อยอดในการเจรจาทางการค้า และพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ดีขึ้น
สำหรับมาตรการ CBAM จะส่งผลให้ราคาวัสดุสินค้าเพิ่มขึ้นมา 15% ตัวอย่างเช่น การซื้อแท่งอลูมิเนียมต่างสถานที่กัน ราคาเฉลี่ยอาจไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ไม่เท่ากันคือ ตัวค่าคาร์บอนของอลูมิเนียมของแต่ละประเทศ ดังนั้นอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อสู้กับการแข่งขันจากคู่แข่งประเทศอื่นด้วย ประเทศไทยไม่มีโรงถลุงอลูมิเนียมต้นทาง โดยเป็นการซื้อจากต่างประเทศมาทั้งหมด อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอลูมิเนียมมีกำไรเพียง 10 % ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยอยู่ได้เพราะว่าผลิตเป็นจำนวนมากหลักแสนตัน หากในอนาคตกำไรน้อยลงจากมาตรการ CBAM ก็อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้โดยตรงเช่นกัน
“สิ่งที่เป็นผลสำเร็จของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ให้เดินได้ตามมาตรการ CBAM ขณะนี้ คือ ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ให้บริการข้อมูลพื้นฐาน (Background data) ของวัสดุในประเทศไทย ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นค่ากลางของประเทศ นำไปใช้ประโยชน์อ้างอิงข้อมูลสินค้าตามมาตรการ CBAM ที่สหภาพยุโรปกำหนด โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการกลุมอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ในเรื่องการกรอกข้อมูลตามระบบของสหภาพยุโรป เพื่อรายงานค่าคาร์บอนกลางของสินค้ากลุ่มอลูมิเนียมของผู้ส่งออกไทยก่อนส่งออกสินค้าเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป”
นายธีรพันธุ์ กล่าวเสริมว่า ในฐานะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ขอยกตัวอย่างสินค้า ปลายทางที่กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมส่งไปที่ยุโรป เช่น อะลูมิเนียมแผ่น ทั้งแผ่นบางและแผ่นหนา ซึ่งผู้ประกอบการในยุโรปที่ผลิตเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ จะนำเข้าอะลูมิเนียมแผ่นจากประเทศไทยเข้าไปผลิต ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องดำเนินการตามมาตรการ CBAM โดยต้องประเมินตนเองและกรอกข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าค่าการปล่อยคาร์บอนของวัสดุอะลูมิเนียมที่ส่งออกเป็นปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งในอนาคตผู้ประกอบการแอร์ที่จะส่งแอร์ไปขายในยุโรปและประเทศต่าง ๆ ต้องทราบว่าจะใช้อะลูมิเนียมกี่กิโลกรัม แล้วจากการคำนวณการใช้กี่กิโลกรัมแล้ว จะใช้วัสดุต้นทางจากที่ใด และแยกออกเป็นเฉพาะวัสดุอะลูมิเนียมจำนวนเท่าใด หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์บริโภคอื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มกระป๋อง-น้ำอัดลมกระป๋อง ล้วนเข้าข่ายมาตรการ CBAM ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมศึกษาข้อมูลเพื่อรับกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน EU ทั้งสิ้น