สอวช. ชี้ควรตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันทุกภาคส่วน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนแสดงศักยภาพของไทยในเวทีเอเปค

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Thai SCP Network จัดกิจกรรมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้โครงการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน CE Innovation Policy Forum กลุ่มนโยบายและแผน ในประเด็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับสถานภาพปัจจุบันและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แลกเปลี่ยนถึงปัญหา อุปสรรค โอกาส ความเสี่ยง ปัจจัยแห่งความสำเร็จภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น นโยบาย กฎระเบียบและข้อจำกัด กลไกภาครัฐ ความต้องการด้านการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงแนวทางในการขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนนโยบายในการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประธานเครือข่าย Thai SCP Network และนายกสมาคมส่งเสริม SCP (ประเทศไทย) ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. และนายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นวิทยากร และมี ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สยาม อรุณศรีมรกต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้กว่า 90 ท่าน

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ให้ข้อมูลในประเด็นการขับเคลื่อนด้านนโยบายและแผนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า เป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ใช้กลไกการขับเคลื่อนด้วย Key Project หรือFocus Sector เพื่อสร้างแบบอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และเป็นโมเดลขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) พลาสติกครบวงจร ตั้งแต่การรวบรวม จัดเก็บ แยก หมุนเวียนใช้ประโยชน์ 2) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สร้างระบบกลไกจัดการลด Food loss/Food waste ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และสร้างจิตสำนึกผู้บริโภค 3) วัสดุก่อสร้าง สร้างความสามารถนวัตกรรมและเทคโนโลยี รูปแบบการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการขับเคลื่อน Smart City ตามนโยบายรัฐบาล

“ตัวชี้วัดสำหรับการไปสู่เป้าหมายสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยภายในปี 2570 นั้น ได้ตั้งเป้าหมายการใช้ทรัพยากรวัตถุดิบพื้นฐานของประเทศลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 สร้างโอกาสการลงทุนเพื่อการเติบโตและการจ้างงานด้วยเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์รวมมวลของประเทศ หรือจีดีพี เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งได้มีการริเริ่มโครงการที่มีความสำคัญสูง (Big Rock) ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนตามที่วางอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ได้แก่ โครงการที่ 1 การจัดการขยะพลาสติกครบวงจร แยก รวบรวม จัดเก็บหมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โครงการที่ 2 บริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste) ระดับชาติ และโครงการที่ 3 การพัฒนาและประยุกต์เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์” ดร. วิจารย์ กล่าว

สำหรับบทบาทของ สอวช. กับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ดร. กาญจนา วานิชกร กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ สอวช. คือการดูความเชื่อมโยงของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของประเทศที่ อววน. มีศักยภาพทำให้บรรลุได้ ภายในปี 2570 มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่สร้างมูลค่าจากฐานสังคมคาร์บอนต่ำและการผลิตที่สะอาด มีกรอบการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มองถึงการบูรณาการทางนโยบาย สร้างโครงสร้าง ปัจจัยเอื้อ และระบบนิเวศ โดยเริ่มจากการสร้างนวัตกรรม ซึ่งในระยะอันใกล้ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ในปีหน้า จะต้องทำให้เห็นศักยภาพและบทบาทของประเทศในการผลักดันและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ในส่วนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่สำคัญคือต้องมียุทธศาสตร์มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้รู้ว่าจะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร ซึ่งกรอบการพัฒนากลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน เป้าหมายในปี 2030 แบ่งออกเป็น 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียนร้อยละ 1-3 ของจีดีพี ซึ่งการจะมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ต้องมีการดำเนินการ 2 ส่วนควบคู่กันไปคือ การแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ และการสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ทั้งนี้ในช่วงต้น  สอวช. ได้สนับสนุนให้เกิด CE Innovation Platform โดยได้รับความร่วมมือจาก CIRCO จากประเทศเนเธอแลนด์ ในการเปิดหลักสูตรอบรมการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ให้กับ 100 องค์กรในประเทศไทย เพื่อให้มี Roadmap/Blueprint นำไปเป็นแนวทางดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในโมเดลธุรกิจของตนเองต่อไป ในส่วนต่อมาคือเรื่องของ CE Innovation Enabler & Ecosystem โดยมีการพูดคุยเรื่องการร่างกฎหมาย EPR หรือกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอื่นๆ ส่วนเรื่องการพัฒนาไปสู่การเป็น CE Hub ของอาเซียน ได้เริ่มจากการเชื่อมโยงกับการเป็นเจ้าภาพเอเปค เริ่มสร้างกลไกที่ดำเนินการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สอวช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถือเป็นหน่วยงานต้นน้ำ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ และต้องเข้ามาบูรณาการร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายเช่นการสัมมนาในครั้งนี้

ด้านนายประเสริฐ กล่าวถึงมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมโดยการขับเคลื่อนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า เป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรของประเทศ คือการทำให้สินค้า วัสดุที่ใช้ในการผลิต และทรัพยากรคงมูลค่าอยู่ในระบบเศรษฐกิจหลายรอบการผลิต และใช้งานยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ รวมถึงเกิดของเสียน้อยที่สุด เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน

สำหรับนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเรื่อง บีซีจี ที่ประกาศเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ มีนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม แผนการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนที่ในภาพรวมเน้นการส่งเสริมเรื่องการผลิตอย่างยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในขั้นต่อไปคือเรื่องนโยบาย มาตรการหรือแนวทางต่างๆ การวิจัยและพัฒนา การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้กับประชาชนเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนาได้มีการให้ความเห็นทั้งในเรื่องการสร้างการสื่อสารเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เข้าถึงคนในทุกระดับ ให้เกิดความตระหนักว่าควรเริ่มต้นอย่างไร มีประโยชน์หรือมีผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ในเรื่องการบริหารจัดการขยะคนต้องเกิดความเข้าใจตั้งแต่ต้นทางคือการแยกขยะ หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ แล้วจึงตามด้วยการปลดล็อกด้านกฎหมายในภาคบังคับ เช่น กฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีมาตรการส่งเสริม เช่น เรื่องภาษี ที่ยังมองเห็นโอกาสว่าจะสามารถทำได้ แต่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นเรื่องมาตรฐานสินค้าเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน กระบวนการการสร้างการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น ตลอดจนการเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน/ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ที่เห็นว่าควรเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากใช้เวลาในการดำเนินการและต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.