วช. แถลงข่าวเปิดตัว “การขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1”
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าวการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1 เพื่อประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย วิเคราะห์ และขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ และ ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. กล่าวสรุปการแถลงข่าว ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ในรูปแบบภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดผลสำเร็จ นำส่งสู่ผู้ใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อใช้เป็นกลไกการดำเนินงานในส่วนขยายผลงานวิจัย โดยการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม การติดตามหลังโครงการเสร็จสิ้น ทำให้เห็นภาพรวมผลสำเร็จของงานวิจัยในมิติที่กว้างขึ้น ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่มือผู้ใช้ประโยชน์ โครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผลงานวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลงานวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และผลงานวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบาย
รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวถึง แผนงานวิจัยศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย และขับเคลื่อนขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในกลุ่มเป้าหมายภาคส่วนต่าง ๆ นั้น โดยระยะแรกได้ดำเนินการประเมินโครงการวิจัยที่ได้รับทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2557 – 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น 468 โครงการ ในเบื้องต้นพบว่ามีโครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยจัดตั้งธุรกิจเริ่มต้น และผลิตผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่องหรือผลิตเพื่อทดสอบตลาด กลุ่มเรื่องที่ 2 โครงการวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ กลุ่มเรื่องที่ 3 โครงการวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายโดยมีการประกาศใช้แล้ว ซึ่งวันนี้ วช. นำผลงานวิจัยมาจัดแสดงนิทรรศการภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ของน้ำยาแช่แข็งน้ำเชื้อโค เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โครงการการพัฒนาฟิล์มหดแบบใช้ความร้อนจากพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ โครงการการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สปาพืชสมุนไพรล้านนา โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย โครงการนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากชีวมวลและสารชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียทนเค็มสายพันธุ์คัดเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ และโครงการการศึกษาแหล่งที่มาและแผนที่ของอนุภาคขนาดนาโนในบรรยากาศของประเทศไทยรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ วช. ให้การสนับสนุน และสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง รวมทั้งสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้
ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. กล่าวว่า วช.เล็งเห็นถึงความสำคัญที่เป็นต้นแบบการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์โดยต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยผ่านเครือข่ายทั้ง 5 เครือข่าย ได้แก่ วช. กลุ่มนักวิจัย กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ และสื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนให้งานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม ตามแนวคิด “ค้นให้พบ ทำให้ได้ ใช้ให้เป็น” เพื่อสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้ยั่งยืนต่อไป