กระทรวง อว. โดยซินโครตรอนจับมือ ปตท.สผ.ร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฟิล์ม DLC ตอบโจทย์อุตสาหกรรมปิโตรเลียม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ร่วมมือกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท. สผ.) นำเทคโนโลยีฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชร (Diamond-Like Carbon) หรือฟิล์ม DLC ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดย สซ. มาประยุกต์ใช้กับชิ้นส่วนวิศวกรรมที่ใช้งานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดย สซ. ได้จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เจ้าหน้าที่ ปตท.สผ. เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้งานได้จริง
นครราชสีมา – ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สซ. กล่าวว่า “สถาบันฯ จัดการอบรม Workshop on Diamond-Like Carbon (DLC) Technology for Petroleum Industry ให้แก่ทีมวิศวกรและนักวิจัยของ ปตท.สผ. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของสถาบันฯ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชน โดยมีนักวิจัยและวิศวกรของสถาบันฯ เป็นวิทยากรทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรภายนอก ผศ.ดร.พิษณุ พูลเจริญศิลป์ และ ผศ.ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเคลือบฟิล์มบางจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ร่วมบรรยายให้ความรู้ด้านทฤษฎีแก่ผู้เข้ารับการอบรมด้วย”
การจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของวิธีการเคลือบ การเตรียมตัวอย่างชิ้นงาน กระบวนการทำงานของเครื่องต้นแบบเคลือบฟิล์ม DLC เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานจริง โดยการอบรมดังกล่าวจัดขึ้น ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
เทคโนโลยีฟิล์ม DLC จะช่วยให้อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนวิศวกรรมที่ใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีความต้านทานการกัดกร่อนสูง ช่วยยืดอายุของอุปกรณ์ในการใช้งานใด้นานขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่องมากขึ้น รวมทั้ง ยังช่วยลดต้นทุนด้วย
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องต้นแบบเคลือบฟิล์ม DLC และเทคโนโลยีการเคลือบฟิล์มบางขั้นสูง (Advanced thin films) บนชิ้นส่วนอุปกรณ์ในการผลิตปิโตรเลียม รวมถึง การทดสอบภาคสนามของอุปกรณ์ที่ได้รับการเคลือบ ก่อนนำไปใช้งานจริงต่อไป