GISTDA – DIPROM – สร้างแต้มต่อเศรษฐกิจอวกาศพลิกโฉมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย
กรุงเทพฯ 8 สิงหาคม 2567 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอวกาศ ผลักดันการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ผ่านกลไก Reshape the Accessibility หนึ่งในกลยุทธ์หลักของนโยบายดีพร้อม Reshape the Future ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ ในการพัฒนาขีดความสามารถ ทั้ง SMEs และ Startup รุ่นใหม่ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมาย Ignite Thailand
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า หนึ่งในการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือการมุ่งเน้นด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจกระแสหลักของประเทศ โดย อว. ตั้งเป้าขยายผลการใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริม การสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน Startup SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อก้าวสู่ภารกิจด้านกิจการอวกาศของไทย โดยได้มอบหมายให้ GISTDA เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และเพื่อขยายระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ โดยหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนจะมีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global Value Chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นอย่างมาก โดยระบุว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ในส่วนของประเทศไทยนั้น ธุรกิจนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้สำคัญด้านการท่องเที่ยว แต่ยังเป็นระบบคมนาคมที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างงาน เชื่อมโยง และดึงดูดการค้าการลงทุนที่มีมูลค่าสูง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ยังมีความโดดเด่นในการผสมผสานเทคโนโลยีระหว่างอุตสาหกรรมต่างสาขา และยังมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ อีกมากมาย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจอวกาศ ให้กับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Startup หรือ SMEs โดยจะให้ความสำคัญในการเร่งผลักดันให้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยสร้างความสามารถ ผลักดัน ส่งเสริมและขับเคลื่อนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทันสมัย ป้อนกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตภายใต้ วิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาล ที่มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่จะมาเติมเต็มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวเพิ่มเติมว่า GISTDA มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การลงนามครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ GISTDA จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันการใช้ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน GISTDA ได้ตระหนักถึงความสำคัญและแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขพบว่าทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 8.1 มูลค่าสูงราว 415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการศึกษาวิเคราะห์ของ GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงสะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต ดังนั้น GISTDA จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ บุคลากร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่จะสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ตอบรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจอวกาศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ด้วยกลไก Reshape the Accessibility หนึ่งในกลยุทธ์หลักของนโยบายดีพร้อม Reshape the Future ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการ โดยได้กระชับการดำเนินงานร่วมกับ GISTDA ผ่านการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ การลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตให้กับผู้ประกอบการ เช่น 1) การบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก 2) การยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุและชิ้นส่วนด้านอากาศยานและการบิน สนับสนุนการเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ และ 3) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อการวางแผนพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนทรัพยากรของประเทศมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มขีดสมรรถนะบุคลากร รองรับการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อไปอีกด้วย