“ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืนออกพรรษา 17 ตุลาคม 2567
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) คืนออกพรรษา 17 ตุลาคม 2567 บันทึก ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมบรรยากาศชมซูเปอร์ฟูลมูนในธีมฮาโลวีน
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) ในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันออกพรรษา ดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,358 กิโลเมตร ส่งผลให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เมื่อนำภาพถ่ายมาเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงช่วงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าประมาณร้อยละ 14 เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน บรรยากาศการชมซูเปอร์ฟูลมูนคืนวันออกพรรษา 17 ตุลาคม 2567 ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นไปอย่างคึกคัก มีชาวเชียงใหม่และใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่าพันคน ร่วมดูดาวชมจันทร์เต็มดวงผ่านกล้องโทรทรรศน์ ถ่ายภาพกับดวงจันทร์ยักษ์ ฟังเสียงเพลงขับกล่อม เพลิดเพลินกับ Special Talk “เรื่องเร้นลับของดวงจันทร์” พร้อมเล่นเกมตอบคำถาม สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก ในงานดังกล่าวยังเชิญชวนแต่งกายในธีมฮาโลวีน อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมชมซูเปอร์ฟูลมูน ณ จุดสังเกตการณ์หลักอื่น ๆ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น และสงขลา ฟ้าใสเป็นใจมีประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงเดินทางเข้าร่วมชมจันทร์ในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี อย่างล้นหลามเช่นกันนอกจากไฮไลท์ของงานที่มีดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏสว่างเด่นน่าตื่นตาแล้ว ช่วงหัวค่ำวันดังกล่าวยังสามารถสังเกตการณ์ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ปรากฏทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังสามารถรับชมวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ที่น่าสนใจผ่านกล้องโทรทรรศน์ อาทิ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ฯลฯ ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในปีถัดไปตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ