กทม. ผนึกกำลัง สวทช. สสวท. พัฒนาเยาวชน ในโรงเรียนภาษาที่สาม สู่นวัตกรยุค 4.0 ด้วย Digital Innovation Maker space นำร่องพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(วันที่ 24 ตุลาคม 2567) ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่ชาติ (เนคเทค สวทช.) และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติ Digital Innovation Maker space ในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนานวัตกรยุค 4.0 (โรงเรียนภาษาที่สาม) โดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมและดำเนินโครงการฯ พร้อมด้วย นายชนินทร์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา ผู้อํานวยการกองเทคโนโลยีการศึกษา สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักการศึกษา และดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ สวทช. เข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรม Digital Innovation Maker space  

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนานวัตกรยุค 4.0 (โรงเรียนภาษาที่สาม) Digital Innovation Maker space มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้เข้าถึงเครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียน สู่การเป็นนวัตกรในยุค 4.0 การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมทักษะให้แก่นักเรียน แต่ยังช่วยให้คุณครูสามารถใช้วิธีการสอนที่หลากหลายและทันสมัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมให้กับเด็ก ๆ ในการเผชิญการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาวิชาการเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ กรุงเทพมหานครมีแผนพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อสร้างนักเรียนคุณภาพในยุค 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในโลกปัจจุบัน การส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็น ในขณะเดียวกันการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยจะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ การจัดหาห้องเรียน Digital Innovation Maker Space จะทำให้การเรียนการสอนมีความทันสมัย การพัฒนาทักษะภาษาที่ 3 โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) จะช่วยให้เด็กมีความรู้ในเทคโนโลยีและสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น  

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการดำเนิน “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนานวัตกรยุค 4.0 (โรงเรียนภาษาที่สาม)” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนานักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จะมุ่งเน้นการสอนทักษะภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สำหรับนักเรียนทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การสร้างหลักสูตรที่ผสมผสานภาษาเทคโนโลยี เช่น การเขียนโค้ด ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนให้มีทักษะที่หลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ผ่านการจัดตั้งห้องเรียน Digital Innovation Maker Space ที่จะนำร่องใน 20 โรงเรียนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมให้คำปรึกษาในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม และอบรมความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 90 แห่ง และส่งเสริมการจัดแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะคุณครูให้มีความรอบด้าน และสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

นายชนินทร์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการศึกษา สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ เนคเทค สวทช. และ สสวท. เพื่อพัฒนาโครงการและกิจกรรม “ส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนานวัตกรยุค 4.0” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้าง Digital Innovation Maker Space ในโรงเรียน มีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อสร้างรากฐานด้านกำลังคน มุ่งหวังที่จะพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก โดยการสอนเทคโนโลยีในโรงเรียนจะช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกดิจิทัล โดยการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้   เชิงปฏิบัติ และสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการพัฒนาโครงงานที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจและทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมดิจิทัล ทั้งนี้โครงการฯ มีแผนการดำเนินกิจกรรม ในระยะเวลา 9 เดือน ประกอบด้วยกิจกรรม 1.การอบรมความรรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ Digital Innovation Maker Space ให้กับโรงเรียนภาษาที่สาม จำนวน 90 โรงเรียน โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาและข้าราชการครูฯ ที่ผ่านการอบรม จำนวน 181 คน 2.การอบรมเชิงปฏิบัติการ Digital Innovation Maker Space ทั้ง 90 โรงเรียนเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 20 โรงเรียน 3.กิจกรรมจัดระดมสมอง ออกแบบห้อง Digital Innovation Maker Space ออกแบบรายการอุปกรณ์ สื่อการเรียนรู้ และออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ สำหรับ 20 โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือก 4.กิจกรรมระดมสมองออกแบบหลักสูตรโรงเรียนภาษาที่สาม (ภาษาเทคโนโลยี) ของ 4 ช่วงชั้น 5.จัดทำเนื้อหาคู่มือการจัดการเรียนรู้ จัดทำ Coding Competency ของหลักสูตรโรงเรียนภาษาที่สาม (ภาษาเทคโนโลยี) 6.การจัดอบรมการใช้เครื่องมือและการบำรุงรักษา ห้อง Digital Innovation Maker Space รวมทั้งให้ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน 7.การประกวดในพื้นที่พัฒนานวัตกรรมดีเด่น โรงเรียนภาษาที่สาม (ภาษาเทคโนโลยี) ในวันที่ 20 มิถุนายน 2568 สำหรับแผนการดำเนินกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในโรงเรียนภาษาที่สาม โดยเน้นการอบรมและการพัฒนาทักษะของคุณครู รวมถึงการสร้างนวัตกรรมการเรียน การสอนที่จะช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับอนาคต นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประกวดเพื่อกระตุ้นการพัฒนาและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ

ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีความยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนานวัตกรยุค 4.0 (โรงเรียนภาษาที่สาม) Digital Innovation Maker Space ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผานมา สวทช. ได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครในการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาทั้งเมืองและระบบการศึกษา เช่น Traffy Fondue: แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง Thai School Lunch for BMA: แพลตฟอร์มจัดสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โครงการ KidBright: โครงการที่จัดอบรมให้ข้าราชการครูฯ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะด้าน STEM ให้กับเด็กๆ โดยการร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น แต่ยังเป็นการสร้างพื้นฐานในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กไทยและสังคมโดยรวม ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีและยั่งยืนสำหรับการพัฒนาการศึกษาในกรุงเทพมหานครและประเทศชาติในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published.