บพท. หนุนนวัตกรรมยกระดับเลี้ยงหอยนางรม พัฒนาชุมชนชายฝั่งตรังสู่ความยั่งยืน
การบริโภคหอยนางรมในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากหอยนางรมเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิดทำให้ประเทศไทยมีการบริโภคหอยนางรมประมาณ 30,000-40,000 ตันต่อปี
จากสถิติ พบว่า มีการนำเข้าหอยนางรมจากต่างประเทศประมาณ 20,000-30,000 ตัน เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น (ข้อมูล : กรมประมง) ในขณะที่ผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำ จึงเป็นโจทย์สำคัญให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยเขตตรัง นำงานวิจัยเข้ามาใช้สร้างนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงหอยนางรม ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง หัวหน้าโครงการเลี้ยงหอยนางรมในชุมชนชายฝั่งภายใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเลี้ยงหอยนางรมในชุมชนชายฝั่งของประเทศไทย เล่าว่า การเลี้ยงหอยนางรมในประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องการขาดแคลนองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี การจัดการพื้นที่ และการตลาด
“โครงการนี้ต่อยอดมาจากโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ภายใต้แผนงานนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและหนุนเสริมผู้ประกอบการชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงหอยนางรมให้กับชุมชนชายฝั่งมากว่า 20 ปี โดยโครงการเดิม การเลี้ยงหอยนางรมในตะแกรงพลาสติกหลายชั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปและการวิจัยพัฒนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการได้ปรับเปลี่ยนเทคนิคและรูปแบบการเลี้ยงให้สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถของผู้ใช้งานในชุมชน”
โครงการเลี้ยงหอยนางรมเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาในห้องปฏิบัติการเพื่อตอบสนองปัญหาการเลี้ยงหอยนางรมในพื้นที่ชายฝั่ง ต่อมาได้ขยายผลไปยัง 6 ชุมชนบ่อหินและบ้านแหลม เป้าหมายคือเพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มมูลค่าให้กับการเลี้ยงหอยนางรม เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ซึ่งเป้าหมายหลักของโครงการคือ“การปรับปรุงวิธีการเลี้ยงให้ทันสมัย”โดยเปลี่ยนจากการใช้ตะแกรงพลาสติกหลายชั้นที่ซับซ้อน มาเป็นการใช้ตะกร้าร่วมกับตะแกรง ซึ่งทำให้การจัดการง่ายขึ้นและสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 3-5 เท่าในพื้นที่เท่าเดิม อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรทำงานได้สะดวกขึ้น ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ โดยเกษตรกรสามารถเลี้ยงหอยนางรมได้ถึง 500 ตัว ในตะกร้าเดียวกัน เปลือกหอยมีลักษณะเรียบสวยทำให้เนื้อหอยมีความสมบูรณ์ ขณะที่วิธีการเลี้ยงแบบเก่าที่ใช้วิธีการเลี้ยงแบบพวงอุบะแขวน ให้ผลผลิตต่ำกว่าเปลือกหอยงองุ้มทำให้เนื้อหอยไม่สวย
หลังจากประสบความสำเร็จในพื้นที่นำร่อง โครงการเลี้ยงหอยนางรมได้ขยายไปยัง 11 ชุมชนในจังหวัดตรัง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายการเลี้ยงหอยนางรมระหว่างชุมชน ทั้งด้านการผลิตและการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมและติดตามผลเกษตรกรทุกเดือน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“การสร้างเครือข่ายชุมชนและการสื่อสารผ่านกลุ่ม LINE ช่วยให้เรามองเห็นความก้าวหน้าของแต่ละชุมชนได้ชัดเจน ชุมชนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหากันได้ ขณะเดียวกันผู้นำชุมชนมีวิสัยทัศน์และความกระตือรือร้นสามารถดึงดูดการร่วมมือกันระหว่างชุมชน ทำให้เห็นการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว”
นอกจากการเลี้ยงหอยนางรมแล้ว โครงการยังได้สร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อขยายตลาดให้กับเกษตรกร โดยเชื่อมโยงชุมชนที่ไม่มีตลาดรองรับผลผลิตในการจำหน่ายหอยนางรมร่วมกับชุมชนที่มีตลาดรองรับ ทำให้เกษตรกรสามารถขายหอยนางรมได้ในราคาที่ดีกว่าการรับซื้อจากพ่อค้าคนกลางและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่ได้วัดจากจำนวนผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังวัดจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและแนวคิดของเกษตรกร ที่เริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการหอยนางรมอย่างมีระบบอีกด้วย
นายมานิต ภักดีย่อง นวัตกรชุมชน กล่าวว่า องค์ความรู้จากนักวิจัยเข้ามาช่วยเติมเต็มการเลี้ยงหอยนางรมได้สมบูรณ์แบบ เนื่องจากที่ผ่านมา เลี้ยงหอยนางรมเป็นอาชีพเสริมแบบลองผิดลองถูก
“เชื่อในความรู้ที่อาจารย์บอกเพราะอาจารย์เป็นนักวิจัย ส่วนเราเป็นชาวบ้านที่แม้ว่าเคยเลี้ยงหอยนางรมมาแล้วแบบเก่า แต่เชื่อว่าองค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นสิ่งที่ดีกว่าความรู้ที่มีอยู่ เพราะเห็นความแตกต่างระหว่างการเลี้ยงแบบพวงและเลี้ยงแบบตะกร้า อีกอย่างงานวิจัยของอาจารย์เข้ามาเติมเต็มทำให้เกษตรกรมีความรู้ในอาชีพที่ลึกขึ้น และสามารถคิดต่อยอดปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น”
ในอนาคต ผศ.ดร.สุพัชชา มีแผนที่จะขยายการผลิตหอยนางรมในโรงเพาะฟักของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันสามารถผลิตได้เพียง 50,000 ตัวต่อปี
“สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำได้ในตอนนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศ เรามองว่าโรงเพาะฟักและการผลิตเชิงพาณิชย์จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนหอยนางรมในตลาดในระยะยาว โดยมุ่งหวังที่จะให้เกษตรกรในชุมชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ด้วยการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการดูแลและจัดการหอยนางรมอย่างเป็นระบบ”
บทเรียนสำคัญจากโครงการเลี้ยงหอยนางรมไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มผลผลิตในประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย มหาวิทยาลัย กับชุมชน การสร้างเครือข่ายการตลาด และการพัฒนาผู้นำในชุมชน สู่การบูรณาการความรู้ทางวิชาการกับประสบการณ์ของเกษตรกรเป็นแนวทางที่สำคัญในการต่อยอดให้โครงการสามารถพัฒนาและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว