วว. /วช. ร่วมจัดการองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการผลิต-จำหน่ายมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการ “การจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการจำหน่ายผลมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออก” ให้แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ต.ปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันมีสมาชิก 32 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 350 ไร่ ซึ่งมีสภาพดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เกษตรกรสามารถผลิตมะม่วงนอกฤดูได้เฉลี่ย 600 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อหลีกหนีจากปัญหามะม่วงล้นตลาดและราคาตกต่ำในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ส่งขายผลมะม่วงให้กับผู้ประกอบการส่งออก จ.ราชบุรี ในราคารับซื้อมะม่วงเกรด A ผิวสวย ได้ราคา 120 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม แต่หากเป็นเกรดรอง ผิวไม่สวย เช่น จากเพลี้ยไฟ ได้ราคาเพียง 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผู้ประกอบการส่งออกสามารถนำไปขายได้ราคาสูง เพราะเป็นผลมะม่วงนอกฤดูซึ่งมีผลผลิตน้อย และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จึงพยายามศึกษาช่องทางเพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิตมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออก แต่มีปัญหาด้านการผลิตและการจำหน่าย ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเดิมบางนางบวช ได้รับทราบปัญหาของวิสาหกิจชุมชนฯ จึงได้ประสานงาน ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากการลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ ของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ และกองพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตรคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการจำหน่ายมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออก และพร้อมถ่ายทอดให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น และเกิดความยั่งยืนในอาชีพ โดยได้พบว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้นอกฤดู 2 รุ่น คือ 1) ดึงช่อดอกในเดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวต้นเดือนกันยายน หลังจากนั้นดูแลบำรุงต้น และ 2) ดึงช่อดอกในปลายเดือนกันยายน เก็บเกี่ยวต้นเดือนมกราคม โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีพื้นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง มีตัวแปรที่สำคัญคือฝน ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ กลุ่มเกษตรกรอาศัยประสบการณ์โดยดูความพร้อมของสภาพใบ ต้น และอากาศ สามารถผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้นอกฤดูได้คุณภาพดี และได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) แต่มีปัญหาที่สำคัญ ดังนี้ 1. เพลี้ยไฟพริก (chilli thrip) Scirtothrips dorsalis Hood เข้าทำลายยอด ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน ทำให้ยอดมะม่วงเป็นสีดำ ใบแห้งร่วง ดอกร่วง และที่สำคัญคือผิวผลมะม่วงเป็นตำหนิรอยสีน้ำตาลหรือสีดำ ทำให้ผลไม่สวยงาม และทำให้ราคาลดลงอย่างมาก
2. ปัญหาสำคัญที่พบในการส่งออกผลมะม่วงไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ คือ การเสื่อมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและอายุการวางจำหน่ายสั้น เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้ที่มีกระบวนการสุกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความเสียหายจากโรคและแมลงหลังการเก็บเกี่ยว
3. สำหรับมะม่วงที่ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เนื่องจากปัญหาคุณภาพของมะม่วง หรือสถานการณ์โรคระบาดดังเช่น โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องจำหน่ายในประเทศไทย แต่ด้วยปริมาณผลผลิตจำนวนมากทำให้ผลมะม่วงสุกไม่สม่ำเสมอ จึงเป็นปัญหาในการจำหน่ายในประเทศไทย
4. การจัดการด้านการตลาด เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การขายรูปแบบใหม่ ซึ่งมีทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ผู้ปลูกยังขาดประสบการณ์ด้านนี้
จากการรวบรวมปัญหาดังกล่าว วว. และพันธมิตรได้ดำเนินโครงการ “การจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการจำหน่ายผลมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออก” ในพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง พร้อมทั้งเชิญตัวแทนจากพื้นที่ใกล้เคียงและประสบปัญหาเช่นกันคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกมะม่วงบ้านดงนุ่น ต.กระเสียว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีจำนวนสมาชิก 31 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วง 348 ไร่ เข้าร่วมประชุมและอบรมด้วยทุกครั้ง ประกอบด้วยกิจกรรม 1) จัดการประชุม ร่วมรับฟังข้อคิดเห็นและความต้องการ รวมทั้งให้คำปรึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับเพลี้ยไฟในสวนมะม่วง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบ่มผลมะม่วง การจัดทำแผนการตลาดและแนวทางการพัฒนาธุรกิจ สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ 2) กำหนดแผนการอบรมเชิงปฏิบัติการ สำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และการฝึกอบรม ให้ครบ 5 องค์ความรู้ ดังนี้
2.1 ถ่ายทอดองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเพลี้ยไฟพริก : การจำแนกชนิดของเพลี้ยไฟที่พบในมะม่วง ชีววิทยา และนิเวศวิทยา เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของเพลี้ยไฟพริก นำไปสู่การเลือกวิธีการป้องกันกำจัดในแต่ละระยะให้เหมาะสม
2.2 ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟพริกให้เหมาะสมกับพื้นที่และการผลิตมะม่วงนอกฤดู : การเขตกรรม การใช้วิธีกลและกายภาพ การใช้ชีววิธี และการใช้สารเคมีกำจัดแมลง รวมถึงการวางแผนร่วมกันระหว่างนักวิจัยและเกษตรกร เพื่อทำตารางการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงให้เหมาะสมกับพื้นที่และกิจกรรมการผลิตมะม่วงในรอบปี
2.3 ถ่ายทอดองค์ความรู้/สาธิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพของผลมะม่วง : ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว การตรวจสอบความอ่อน-แก่ การควบคุมโรคและแมลง การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว และมาตรฐานสินค้ามะม่วง
2.4 ถ่ายทอดองค์ความรู้/สาธิต การบ่มผลมะม่วง : ปัจจัยที่มีผลต่อการบ่มผลไม้ ขั้นตอนการบ่มผลมะม่วงด้วยสารปลดปล่อยเอทิลีน และก๊าซเอทิลีน
2.5 ถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดทำแผนการตลาดและแนวทางการพัฒนาธุรกิจ สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ : วิเคราะห์ SWOT Analysis การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และประสานงานด้านการตลาดระหว่างวิสาหกิจชุมชนฯ กับหน่วยงานพันธมิตร วว.
นอกจากการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวแล้ว วว. ได้จัดทำคู่มือการจัดการองค์ความรู้ฯ การถ่ายทอดองค์ความรู้/สาธิต การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงและติดตามการนำองค์ความรู้/สาธิต ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชนฯ และเป็นโมเดลการดำเนินงานสำหรับนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป ในบริบทที่วิสาหกิจชุมชนฯ มีความรู้และความสามารถในการแก้ปัญหาเพลี้ยไฟพริกในสวนมะม่วง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพของผลมะม่วง การบ่มผลมะม่วง การจัดทำแผนการตลาดและส่งเสริมการขายรูปแบบใหม่ สามารถต่อยอดเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และเป็นอาชีพหลักได้อย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก วว. ติดต่อได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”